รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความรู้สึกของมารดาที่ต้องหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความเข้าใจเพื่อที่จะนำไปใช้ในการให้คำปรึกษา มีการศึกษาในประเทศสเปนถึงเรื่องนี้พบว่าเหตุผลที่สำคัญที่เป็นสาเหตุให้มารดาหยุดให้นมลูกก่อนเวลาที่เหมาะสม คือ ความไม่มั่นใจว่าตนเองมีน้ำนมเพียงพอที่จะให้แก่ลูก ซึ่งก็คือความกังวลในเรื่องสารอาหาร และการเจ็บเต้านมและหัวนม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้มารดาหยุดการให้นมลูกในหลายรายงาน ในมารดาที่หยุดให้นมแม่นั้น มารดาบางคนอาจรู้สึกว่าลูกจะได้สารอาหารครบจากการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ขณะเดียวกันก็อาจจะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถจะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างที่ควรจะเป็น และบางคนยังคิดว่าการให้การสนับสนุนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรทางการแพทย์มีน้อยและไม่เพียงพอ ดังนั้น การให้คำปรึกษาในมารดาเหล่านี้ ควรมีการให้ดูแลเรื่องอารมณ์และสนับสนุนทางด้านจิตใจที่มารดาอาจรู้สึกผิด1 นอกจากนี้ การจัดบริการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเป็นระบบในขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาล มีความต่อเนื่องเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านหรือในชุมชนและมีความเพียงพอครอบคลุมมารดาที่มีคลอดหรืออยู่ในพื้นที่ที่ดูแลอย่างครบถ้วน ยังมีความจำเป็นเพื่อให้มารดาคงการเลี้ยงลูกได้ยาวนานตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
เอกสารอ้างอิง
- Cortes-Rua L, Diaz-Gravalos GJ. Early interruption of breastfeeding. A qualitative study. Enferm Clin 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ? ?อุปกรณ์ในการปั๊มนมรวมทั้งขวดนมถือเป็นค่านิยมที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมนมแม่ในปัจจุบัน อาจเป็นด้วยหลายเหตุผล ได้แก่ การเข้าเต้าที่ยากลำบาก การกลับไปทำงานของมารดาหรือการต้องแยกห่างจากทารก ซึ่งมีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาที่ต้องปั๊มนมป้อนเก็บไว้ป้อนลูก พบว่า แม้ว่ามารดาจะยินดีที่จะปั๊มนมเก็บให้ลูก เนื่องจากอยากให้ลูกได้กินนมแม่ แต่ก็รู้สึกว่าการปั๊มนมเป็นเรื่องที่กินเวลามาก น่าเบื่อ และต้องเสียค่าใช้จ่ายกับเครื่องปั๊ม ทำให้ชนิดของเครื่องปั๊มและขวดนมกลับมามีความสำคัญ ซึ่งเทียบไม่ได้กับการกินนมแม่จากเต้าที่มีความสะดวกและให้ความรู้สึกพึงพอใจมากกว่า1,2 อย่างไรก็ตาม หากยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความลดการพึ่งพาเครื่องปั๊มนมและขวดนม โดยหันมาหาวิธีการดั้งเดิมคือ การบีบน้ำนมด้วยมือ และการป้อนนมทารกด้วยถ้วย ซึ่งทำให้ลูกไม่สับสนในการกินนมจากเต้าและป้อนนมจากถ้วย นอกจากนี้ ลูกยังสามารถคุมการกินนมได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันและลดโรคอ้วนในอนาคตเมื่อทารกเติบโตขึ้น และแม้ว่าการป้อนนมจากขวดนมจะยังได้ประโยชน์จากสารอาหารในนมแม่ แต่อาจจะขาดประโยชน์ในเรื่องการช่วยการพัฒนาการและความเฉลียวฉลาดของทารก ซึ่งได้กินนมจากเต้า มีการกระตุ้นการสัมผัส ในอ้อมกอดที่อบอุ่น มั่นคงและรู้สึกปลอดภัย ร่วมกับการพูดคุยหลอกล้อ สร้างพื้นฐานอารมณ์ที่ดี มีความสัมพันธ์และความรัก การวิจัยในรายละเอียดของผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ควรศึกษาในอนาคตต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- Felice JP, Geraghty SR, Quaglieri CW, Yamada R, Wong AJ, Rasmussen KM. “Breastfeeding” without baby: A longitudinal, qualitative investigation of how mothers perceive, feel about, and practice human milk expression. Matern Child Nutr 2017.
- Felice JP, Geraghty SR, Quaglieri CW, Yamada R, Wong AJ, Rasmussen KM. “Breastfeeding” but not at the breast: Mothers’ descriptions of providing pumped human milk to their infants via other containers and caregivers. Matern Child Nutr 2017.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)