รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่ายาแก้ปวดจะมีประโยชน์ในการลดความเจ็บปวดในระหว่างการรอคลอดได้ แต่การให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด ควรมีการอภิปรายถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ กับมารดาตั้งแต่ระยะก่อนการคลอด อธิบายถึงลักษณะการเจ็บครรภ์คลอดและทางเลือกในการลดความเจ็บปวดจากการคลอดด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา เพื่อให้มารดาเข้าใจ ลดความกลัว ความวิตกกังวล หรือความคาดหวังถึงความรุนแรงของการเจ็บครรภ์คลอดซึ่งจะส่งผลต่อความรุนแรงต่อการเจ็บครรภ์ขณะเข้าสู่ระยะคลอด1 โดยอธิบายข้อดีของการให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวดจะทำให้มารดามีอาการปวดน้อยลง ไม่ต้องทนหรือมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการคลอด สำหรับข้อเสียหรือความเสี่ยงของการให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด ได้แก่ การคลอดยาวนานขึ้น มีโอกาสการใช้หัตถการสูงขึ้น2 การให้ทารกแรกเกิดได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เริ่มช้าลง3 เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการแยกมารดาจากทารกหลังคลอด ทำให้ทารกง่วงซึมและปลุกตื่นยาก ลดกลไกการดูดนมของทารก น้ำนมลดลง ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดอาการตัวเหลือง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำหนักตัวขึ้นน้อย การให้การช่วยเหลือหรือเวลาที่มากขึ้นอาจจำเป็นในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการสร้างความสัมพันธ์ของมารดากับทารกเมื่อมีการใช้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด
ควรจะเสนอการลดความเจ็บปวดจากการคลอดด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาก่อน ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ การให้สามีหรือญาติที่ใกล้ชิดอยู่ให้กำลังใจหรือการกดนวดหลัง4 การเดินจงกลม การเดินไปรอบๆ หรือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่า การกอดลูกบอล5 การเต้นโดยการยืนขยับสะโพกไปหน้าหลังหรือเป็นวงกลมพร้อมการนวดหลัง (dance labor)6 การใช้น้ำอุ่นหรือประคบร้อนบริเวณหลังส่วนล่าง7 การประคบร้อนสลับเย็นบริเวณหลังส่วนล่าง8 การให้กำลังใจโดยภาษากายหรือการพูดจากบุคลากรทางการแพทย์ และการสร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ การมีแสงไฟที่ไม่สว่างจ้าเกินไป ควรมีทางเลือกให้มารดาได้เลือกท่าในระหว่างการรอคลอดและขณะคลอด9,10 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละโรงพยาบาล และฝึกบุคลากรให้มีความสามารถและทัศนคติที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดลงได้
เอกสารอ้างอิง
- Chang MY, Chen SH, Chen CH. Factors related to perceived labor pain in primiparas. Kaohsiung J Med Sci 2002;18:604-9.
- Hwa HL, Chen LK, Chen TH, Lee CN, Shyu MK, Shih JC. Effect of availability of a parturient-elective regional labor pain relief service on the mode of delivery. J Formos Med Assoc 2006;105:722-30.
- Riordan J, Gross A, Angeron J, Krumwiede B, Melin J. The effect of labor pain relief medication on neonatal suckling and breastfeeding duration. J Hum Lact 2000;16:7-12.
- Taghinejad H, Delpisheh A, Suhrabi Z. Comparison between massage and music therapies to relieve the severity of labor pain. Womens Health (Lond Engl) 2010;6:377-81.
- Taavoni S, Abdolahian S, Haghani H, Neysani L. Effect of birth ball usage on pain in the active phase of labor: a randomized controlled trial. J Midwifery Womens Health 2011;56:137-40.
- Abdolahian S, Ghavi F, Abdollahifard S, Sheikhan F. Effect of dance labor on the management of active phase labor pain & clients’ satisfaction: a randomized controlled trial study. Glob J Health Sci 2014;6:219-26.
- Taavoni S, Abdolahian S, Haghani H. Effect of sacrum-perineum heat therapy on active phase labor pain and client satisfaction: a randomized, controlled trial study. Pain Med 2013;14:1301-6.
- Ganji Z, Shirvani MA, Rezaei-Abhari F, Danesh M. The effect of intermittent local heat and cold on labor pain and child birth outcome. Iran J Nurs Midwifery Res 2013;18:298-303.
- Golay J, Vedam S, Sorger L. The squatting position for the second stage of labor: effects on labor and on maternal and fetal well-being. Birth 1993;20:73-8.
- Souza JP, Miquelutti MA, Cecatti JG, Makuch MY. Maternal position during the first stage of labor: a systematic review. Reprod Health 2006;3:10.