รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตเพิ่มขึ้น โดยพบว่าทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงที่จะคลอดทารกแรกเกิดตัวโต การที่ทารกแรกเกิดตัวโตมากกว่า 4000 กรัมจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีโรคอ้วน 2 เท่า และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2.5 เท่าหากทารกมีน้ำหนักแรกเกิดที่เปอร์เซ็นไทล์ (percentile) 90 เมื่อเปรียบเทียบดัชนีมวลกายของทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานที่อายุ 18 ปี พบว่ามีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าทารกที่มารดาไม่มีโรคเบาหวาน 0.94 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และพบความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น 6 เท่าในทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวาน โดยการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานในทารกอธิบายจากพันธุกรรมและการที่ทารกมีการคลอดก่อนกำหนดจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย1
สำหรับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต มีคำอธิบายจากภาวะแวดล้อมในครรภ์ของมารดาที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ผนังหลอดเลือดของทารก2 มีความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น มีการเกิด oxidative stress3 ซึ่งจะมีผลทำให้ความยาวของเทโลเมียร์ (telomere) สั้นลง เทโลเมียร์คือ ส่วนของสายดีเอ็นเอที่อยู่บริเวณปลายของโครโมโซมทั้งสองข้าง โดยหน้าที่ที่สำคัญของเทโลเมียร์คือป้องกันดีเอ็นเอจากการถูกทำลาย และการพันกันของสายดีเอ็นเอ เมื่อเทโลเมียร์สั้นลง จะมีความสัมพันธ์กับการเสื่อมของเซลล์ ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด1
เอกสารอ้างอิง
- Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
- Ingram DA, Lien IZ, Mead LE, et al. In vitro hyperglycemia or a diabetic intrauterine environment reduces neonatal endothelial colony-forming cell numbers and function. Diabetes 2008;57:724-31.
- Abe J, Berk BC. Reactive oxygen species as mediators of signal transduction in cardiovascular disease. Trends Cardiovasc Med 1998;8:59-64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่มีโรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ในระยะยาวจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ผนังหลอดเลือด (endothelial dysfunction) ทำให้เลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะลดลง จนเกิดความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องที่พบบ่อย ได้แก่ ตา ไต และปลายเท้า โดยในส่วนของตาจะพบความผิดปกติของจอประสาทตาจากโรคเบาหวาน (diabetic retinopathy) ซึ่งจะกระทบต่อการมองเห็น และในส่วนของไตจะพบความผิดปกติของการรั่วของอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตจากเบาหวาน (diabetic nephropathy) ส่วนปลายเท้าจะมีอาการชา เกิดบาดแผลง่าย แผลหายช้า มีความเสี่ยงต่อการตัดเท้าหรือขาเพิ่มขึ้น1 นอกจากนี้ ยังพบมารดามีความเสี่ยงจากการเกิดโรคในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง กลุ่มอาการเมตาบอลิก ซึ่งทำให้มารดามีโอกาสที่จะมีโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย2
เอกสารอ้างอิง
- American Diabetes A. 11. Microvascular Complications and Foot Care: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S135-S51.
- American Diabetes A. 10. Cardiovascular Disease and Risk Management: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S111-S34.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ทารกที่มีมารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะมีความทนต่อน้ำตาลที่ผิดปกติ (impaired glucose tolerance) เพิ่มขึ้นเมื่อเจริญเติบโตเข้าสู่วัยเด็ก1 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน กลุ่มอาการเมตาบอลิก และเบาหวานเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น2-5 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความเสี่ยงของพัฒนาการของระบบประสาทที่ผิดปกติ ได้แก่ พัฒนาการของระบบการเคลื่อนไหว ขาดสมาธิ (inattention) และซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) เพิ่มขึ้นด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Lowe WL, Jr., Scholtens DM, Kuang A, et al. Hyperglycemia and Adverse Pregnancy Outcome Follow-up Study (HAPO FUS): Maternal Gestational Diabetes Mellitus and Childhood Glucose Metabolism. Diabetes Care 2019;42:372-80.
- Dabelea D, Knowler WC, Pettitt DJ. Effect of diabetes in pregnancy on offspring: follow-up research in the Pima Indians. J Matern Fetal Med 2000;9:83-8.
- Logan KM, Gale C, Hyde MJ, Santhakumaran S, Modi N. Diabetes in pregnancy and infant adiposity: systematic review and meta-analysis. Arch Dis Child Fetal Neonatal Ed 2017;102:F65-F72.
- Page KA, Romero A, Buchanan TA, Xiang AH. Gestational diabetes mellitus, maternal obesity, and adiposity in offspring. J Pediatr 2014;164:807-10.
- Clausen TD, Mathiesen ER, Hansen T, et al. Overweight and the metabolic syndrome in adult offspring of women with diet-treated gestational diabetes mellitus or type 1 diabetes. J Clin Endocrinol Metab 2009;94:2464-70.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่มีโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 10 เท่าที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อติดตามมารดาเป็นระยะเวลา 10 ปีหลังคลอด1 โดยอุบัติการณ์ที่พบตั้งแต่ร้อยละ 15-70 ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในการเฝ้าระวังและดูแลตนเองหลังคลอด2,3 ส่วนใหญ่ระดับน้ำตาลของมารดาจะกลับมาเป็นปกติภายใน 4-12 สัปดาห์หลังคลอด ดังนั้น จึงแนะนำให้มารดาที่มีโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำการตรวจหาโรคเบาหวานที่ 3 เดือนหลังคลอด หลังจากนั้นตรวจทุก 1-3 ปี สำหรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตโดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดเบาหวานได้4,5
เอกสารอ้างอิง
- Herath H, Herath R, Wickremasinghe R. Gestational diabetes mellitus and risk of type 2 diabetes 10 years after the index pregnancy in Sri Lankan women-A community based retrospective cohort study. PLoS One 2017;12:e0179647.
- Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
- Mahzari MM, Alwadi FA, Alhussain BM, Alenzi TM, Omair AA, Al Dera HS. Development of type 2 diabetes mellitus after gestational diabetes in a cohort in KSA: Prevalence and risk factors. J Taibah Univ Med Sci 2018;13:582-6.
- Lipscombe LL, Delos-Reyes F, Glenn AJ, et al. The Avoiding Diabetes After Pregnancy Trial in Moms Program: Feasibility of a Diabetes Prevention Program for Women With Recent Gestational Diabetes Mellitus. Can J Diabetes 2019;43:613-20.
- Zilberman-Kravits D, Meyerstein N, Abu-Rabia Y, Wiznitzer A, Harman-Boehm I. The Impact of a Cultural Lifestyle Intervention on Metabolic Parameters After Gestational Diabetes Mellitus A Randomized Controlled Trial. Matern Child Health J 2018;22:803-11.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)