คลังเก็บป้ายกำกับ: ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำจากการตั้งครรภ์ต่อมารดา

ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังต่อทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังในระหว่างการตั้งครรภ์ต่อทารก พบว่าทารกเพศชายที่มีมารดามีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังระหว่างตั้งครรภ์จะมีความผิดปกติทางจิตที่รุนแรงที่ต้องการการรับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือเป็นสาเหตุให้เกิดการตายสูงกว่า ความล้มเหลวของการเรียนรู้ (cognitive failure) มากกว่า ความสามารถด้านความฉลาดต่ำกว่าที่อายุ 20 ปี และมีการเสื่อมของการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุมากกว่า และยังพบว่าทารกที่มีมารดามีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังระหว่างตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อพัฒนาการของการเคลื่อนไหว (motor development) ที่อายุ 14 ปี1

เอกสารอ้างอิง

  1. Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.

ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังต่อมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังในระหว่างการตั้งครรภ์ต่อมารดา มารดาที่มีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่พบก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ในระยะยาวจะพบมีการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น 1.2-3.5 เท่า1 เมื่อเทียบกับมารดาที่มีความดันโลหิตปกติ สำหรับการให้การดูแลรักษาโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังในระหว่างการตั้งครรภ์จะส่งผลในการลดการตายจากภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดยังขาดข้อมูลที่ศึกษาในเรื่องนี้

เอกสารอ้างอิง

  1. Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.

ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำจากการตั้งครรภ์ต่อทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำโดยการตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง อธิบายจากการทารกที่ขาดสารอาหารตั้งแต่ในครรภ์ หรือไม่ได้กินนมแม่ จะทำให้เกิดภาวะเครียด (stress) ในทารก ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์มาก ส่งผลต่อความดันโลหิต และทำลายระบบการทำงานของฮอร์โมนออกซิโตซินและตัวรับฮอร์โมนออกซิโตซินที่ทำงานปรับสมดุลกัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง1 โรคอ้วน และกลุ่มอาการเมตาบอลิกอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าทารกที่มีมารดามีโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำจากการตั้งครรภ์จะมีพัฒนาการของการเคลื่อนไหว (motor development) ที่อายุ 14 ปีต่ำกว่า มีความสามารถด้านความฉลาดหรือการเรียนรู้ต่ำกว่า และมีความผิดปกติทางจิตสูงกว่า2

เอกสารอ้างอิง

  1. Vargas-Martinez F, Schanler RJ, Abrams SA, et al. Oxytocin, a main breastfeeding hormone, prevents hypertension acquired in utero: A therapeutics preview. Biochim Biophys Acta Gen Subj 2017;1861:3071-84.
  2. Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.

ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำจากการตั้งครรภ์ต่อมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           มารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษและโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ เมื่อมารดาอายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น โดยพบความเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 5 เท่า และความเสี่ยงจากการมีโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า ยังไม่ทราบ สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการเกิดความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อน แต่มีการศึกษาพบว่าหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี มารดามีโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำโดยการตั้งครรภ์จะพบมีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการตีบแคบของเส้นเลือด  ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรแนะนำให้มารดาลดปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้มีความเหมาะสม ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ งดอาหารที่มีเกลือในปริมาณที่มากหรือเค็มเกินไป เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย งดการสูบบุหรี่  ในมารดาที่อายุน้อยหรือยังมีความต้องการจะมีบุตร จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปเพิ่มขึ้น การพิจารณาให้แอสไพรินแก่มารดาที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย จะเกิดประโยชน์โดยลดการเกิดโรคนี้ได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Practice Bulletin No. 202: Gestational Hypertension and Preeclampsia. Obstet Gynecol 2019;133:e1-e25.