คลังเก็บป้ายกำกับ: ผลของโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ผลของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การที่มารดามีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังจะทำให้มารดามีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์สูงขึ้น ได้แก่ การมีเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ การมีภาวะครรภ์เป็นพิษเสริมร่วมกับโรคความดันโลหิตสูงที่มีอยู่เดิม ทำให้มารดามีโอกาสผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น พบการตกเลือดหลังคลอดสูงขึ้น และหากมารดาภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูงมากร่วมด้วย อาจพบภาวะความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension)  การทำงานของไตที่ผิดปกติหรือล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โดยหากมีความรุนแรงอาจทำให้มารดาเสียชีวิตได้  สำหรับผลที่เกิดกับทารกพบการคลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทารกจำเป็นต้องแยกจากมารดาไปอยู่ที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต และความพิการของทารกเพิ่มขึ้น ได้แก่ การมีความผิดปกติของหัวใจ การมีท่อเปิดของท่อทางเดินปัสสาวะต่ำ (hypospadias) และการมีหลอดอาหารอุดตัน (esophageal atresia)1  

            ภาวะแทรกซ้อนที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดจะส่งผลทำให้มารดามีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้า และมีโอกาสที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร สำหรับยาที่เลือกใช้ในระยะหลังคลอดในช่วงให้นมบุตร สามารถเลือกใช้ยาได้หลากหลายกลุ่ม โดยการเลือกใช้และข้อควรระมัดระวังในการใช้ดังรายละเอียดที่เขียนบรรยายไว้แล้วในหัวข้อมารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงที่ต้องใช้ยารับประทานต่อเนื่องหลังคลอด           

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Practice Bulletin No. 203: Chronic Hypertension in Pregnancy. Obstet Gynecol 2019;133:e26-e50.

ผลของโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          มารดาที่มีโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อย โดยภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จะทำให้ทารกต้องย้ายไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต1 การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และเสี่ยงต่อการเริ่มนมผงดัดแปลงสำหรับทารก หากไม่มีการให้คำปรึกษาหรือดูแลให้มารดามีความพร้อมในการให้นมทารกเมื่อทารกสามารถกินนมแม่ได้ สำหรับการดูแลในระยะหลังคลอด หากมารดามีความดันโลหิตสูงมาก การดูแลรักษาและการใช้ยาจะเหมือนกับการดูแลรักษามารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่จำเป็นต้องได้รับยาต่อเนื่อง โดยผลของการใช้ยาในแต่ละตัวต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รายละเอียดมีอยู่ในหัวข้อภาวะครรภ์เป็นพิษแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. Cordero L, Valentine CJ, Samuels P, Giannone PJ, Nankervis CA. Breastfeeding in women with severe preeclampsia. Breastfeed Med 2012;7:457-63.