รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? เมื่อมารดาให้นมบุตรในช่วงหลังคลอด โดยทั่วไปข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ ให้นมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก จะเห็นช่วงเวลาที่ให้นมบุตรตามข้อแนะนำเป็นช่วงเวลาที่นาน ในระหว่างช่วงเวลาที่ให้นมบุตรนั้น หากมารดามีโรคประจำตัวหรือมีความเจ็บป่วยขึ้น การใช้ยาก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้น ปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ คือ มารดาจะสามารถรับประทานยาแล้วยังคงให้นมบุตรได้หรือไม่ ความปลอดภัยของยาในระหว่างการให้นมบุตร และเมื่อไรจึงจะมีความจำเป็นต้องหยุดให้นมลูกหากยาที่ได้รับอาจมีผลเสียรุนแรงต่อทารก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานที่เผยแพร่และให้ความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งหากมีการค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตจะพบหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาหลายหน่วยงาน มีทั้งที่ต้องลงทะเบียนเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมหรือค้นหาข้อมูลและแบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเผยแพร่ฟรี แต่หน่วยงานที่บุคลากรทางการแพทย์คุ้นเคยได้แก่ LactMed มีการศึกษาในนอร์เวย์พบว่า ยาที่มีคนสอบถามเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรมากได้แก่ ยาต้านภาวะซึมเศร้า และข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ต้องการทราบก็คือ ความปลอดภัยของยาในระหว่างการให้นมบุตร1 แต่สำหรับในประเทศไทย ยาที่ใช้กันมากในระยะหนึ่งเดือนแรกหลังคลอด ได้แก่ ยาขับน้ำคาวปลาและยาสตรีต่าง ๆ ซึ่งขาดความจำเป็นในการใช้และอาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกได้ การให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ องค์กรที่เกี่ยวข้อง สื่อสารมวลชน รวมทั้งเครือข่ายทางสังคมต่าง ๆ ที่ควรร่วมมือกันเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของมารดาและทารก
เอกสารอ้างอิง
- Jahnsen JA, Widnes SF, Schjott J. Analysis of questions about use of drugs in breastfeeding to Norwegian drug information centres. Int Breastfeed J 2018;13:1.