คลังเก็บป้ายกำกับ: ปัญหาทารกตื่นบ่อยเวลากลางคืน

ปัญหาทารกตื่นบ่อยเวลากลางคืน

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ลักษณะการนอนของทารกจะมีความแตกต่างโดยการหลับของทารกจะไม่หลับลึกเหมือนผู้ใหญ่และร้อยละ 50 ของการหลับจะอยู่ในสภาวะ rapid eye movement ซึ่งจะพบว่าทารกอาจจะมีการเคลื่อนไหวตัวหรือขยับตัวในระหว่างการนอนได้บ่อย การที่ทารกตื่นบ่อยในเวลากลางคืนเกิดจากการพัฒนาของระบบประสาทที่ยังไม่สมบูรณ์ จะพบว่าทารกนอนได้ต่อเนื่องกัน 5 ชั่วโมงในเวลากลางคืนเมื่ออายุ 4 เดือน และทารกนอนได้ต่อเนื่องกัน 10 ชั่วโมงในเวลากลางคืนเมื่ออายุ 1 ปี ในทารกที่อายุ 4-10 สัปดาห์จะนอนเฉลี่ยต่อวัน 13.47 ชั่วโมง โดยมารดาจะได้นอนเฉลี่ย 7.18 ชั่วโมงต่อวัน1 ดังนั้น การที่ทารกตื่นบ่อยในเวลากลางคืน หากเป็นลักษณะปกติ การสอนมารดาให้มีความเข้าใจลักษณะการนอนของทารกจะทำให้มารดาสามารถจัดสรรเวลาพักผ่อนไปพร้อมกับทารกในเวลากลางวัน ไม่เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียในการให้นมลูก และไม่วิตกกังวลหรือเป็นปัญหาที่ทารกตื่นบ่อยเวลากลางคืน สำหรับท่าในการนอนของทารกแนะนำให้ทารกนอนหงาย การนอนคว่ำอาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะทารกเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (sudden infant death syndrome)2-5 ร่วมกับการระมัดระวังในการใช้หมอนหรือผ้าที่อ่อนนุ่มบนเตียงของทารกที่อาจไปอุดปากและจมูกของทารกที่ทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจจากท่านอนของทารกที่ไม่เหมาะสมได้6,7

เอกสารอ้างอิง

  1. Thomas KA, Foreman SW. Infant sleep and feeding pattern: effects on maternal sleep. J Midwifery Womens Health 2005;50:399-404.
  2. Richardson HL, Walker AM, Horne RS. Sleep position alters arousal processes maximally at the high-risk age for sudden infant death syndrome. J Sleep Res 2008;17:450-7.
  3. Alexander RT, Radisch D. Sudden infant death syndrome risk factors with regards to sleep position, sleep surface, and co-sleeping. J Forensic Sci 2005;50:147-51.
  4. Gessner BD, Ives GC, Perham-Hester KA. Association between sudden infant death syndrome and prone sleep position, bed sharing, and sleeping outside an infant crib in Alaska. Pediatrics 2001;108:923-7.
  5. Hutchison L, Stewart AW, Mitchell E. SIDS-protective infant care practices among Auckland, New Zealand mothers. N Z Med J 2006;119:U2365.
  6. Heinig MJ, Banuelos J. American Academy of Pediatrics task force on sudden infant death syndrome (SIDS) statement on SIDS reduction: friend or foe of breastfeeding? J Hum Lact 2006;22:7-10.
  7. Tipene-Leach D, Hutchison L, Tangiora A, et al. SIDS-related knowledge and infant care practices among Maori mothers. N Z Med J 2010;123:88-96.