รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกคือร้อยละ 50 โดยที่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กรยูนิเซฟในปี พ.ศ. 2555 พบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนร้อยละ 12.3 และในปี พ.ศ. 2559 พบร้อยละ 23.1 ซึ่งสัมพันธ์กับตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งคือ การเริ่มต้นให้ลูกกินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดที่พบว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำเช่นกัน การที่บุคลากรทางการแพทย์จะให้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวควรจะมีความเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงที่มีผลทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือน เพื่อที่จะนำมาใช้ในการคัดกรอง ติดตาม และดูแลมารดาและทารกในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะช่วยให้มารดาในกลุ่มเสี่ยงนี้มีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสูงขึ้น โดยมีการศึกษาในเอธิโอเปียถึงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือน1 ได้แก่
-อายุมารดา มารดาวัยรุ่นจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 5.5 เท่า
-ลำดับครรภ์ มารดาครรภ์แรกจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า
-อาชีพของมารดา มารดาที่เป็นข้าราชการจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 4.7 เท่า
-การอ่านออกเขียนได้ของสามี โดยสามีที่ไม่รู้หนังสือจะมีความเสี่ยงที่ภรรยาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า
-การนัดติดตามหลังคลอด มารดาที่ขาดการนัดติดตามหลังคลอดจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า
-การรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่มารดาเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยหรือขาดความใจ จะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 3.2 เท่า
เอกสารอ้างอิง
1. Kelkay B, Kindalem E, Tagele A, Moges Y. Cessation of Exclusive Breastfeeding and Determining Factors at the University of Gondar Comprehensive Specialized Hospital, Northwest Ethiopia. Int J Pediatr 2020;2020:8431953.