คลังเก็บป้ายกำกับ: น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 3

น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระหว่างที่ทารกกินนมแม่ ทารกอาจมีการกระตุ้นกลไกน้ำนมพุ่งได้หลายครั้ง โดยที่ในแต่ละครั้งที่ทารกดูดนมออกมาจะพบว่าน้ำนมมีไขมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยน้ำนมส่วนหน้าที่มีอยู่ในเต้านมในช่วงเริ่มต้นของการกินนมแม่ จะมีไขมันประมาณร้อยละ 1.5-2  ในขณะที่น้ำนมส่วนหลังที่อยู่ในตอนท้ายของการกินนม จะมีไขมันประมาณร้อยละ 5-6  การให้ทารกกินนมตามความต้องการโดยไม่จำกัดเวลาจะช่วยให้ทารกได้รับ “น้ำนมส่วนหลัง” ที่มีปริมาณไขมันสูงมากขึ้นรวมทั้งได้รับวิตามินที่ละลายในไขมัน และได้รับพลังงานเพียงพอที่เพิ่มน้ำหนักให้แก่ทารก และช่วยให้ทารกสามารถรอคอย 2-3 ชั่วโมงจากการให้นมครั้งแรกจนถึงการเริ่มให้นมครั้งต่อไป

ความถี่ในการให้นมเป็นตัวควบคุมปริมาณน้ำนม ยิ่งทารกดูดระบายน้ำนมออกบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งมีการสร้างปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากทารกที่หลับนานครั้งละหลายชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หรือกินนมเฉลี่ยน้อยกว่า 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ความถี่ในการให้นมจะไม่เพียงพอในการกระตุ้นการสร้างน้ำนม จะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง การควบคุมลักษณะนี้ เรียกว่า “กฎแห่งอุปสงค์และอุปทาน” และเนื่องจากเต้านมแต่ละข้างจะตอบสนองต่อการดูดระบายน้ำนมและสร้างน้ำนมตามที่ทารกต้องการ จึงเป็นไปได้ที่จะให้นมแม่อย่างเดียวมากกว่าหนึ่งคนต่อครั้งหรือใช้เพียงเต้าเดียวในการเลี้ยงลูกหนึ่งคน แต่หากในระยะแรกน้ำนมแม่ไม่ได้มีการระบายออกจากเต้า น้ำนมจะเต็มเต้าและมีอาการคัดตึงในที่สุด และเมื่อถึงจุดนั้นสารในน้ำนมเองจะตอบสนองโดยการยับยั้งการสร้างน้ำนม (feedback inhibitor of lactation) ทำให้น้ำนมลดลง1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.