คลังเก็บป้ายกำกับ: น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 1

น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หลังคลอดบุตร มารดาจะมีหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง โดยปริมาณน้ำนมเหลืองทั้งหมดที่มีในวันแรกแม้จะมีปริมาณน้อย (40-50 มล.) แต่จะพอดีกับความจุกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิดซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 20 มล. (ประมาณ 4 ช้อนชา) หรือ 5 มล. / กก.

น้ำนมปกติจะเริ่มปรากฎในสองสามวันหลังคลอด (การสร้างน้ำนมระยะที่ 2) ไม่ว่ามารดาจะให้ทารกกินนมแม่หรือไม่ แต่การกระตุ้นโดยการดูดนมจากเต้านมของทารกจะช่วยในการสร้างและคงหรือรักษาการสร้างน้ำนม การสร้างนมแม่จะถูกกำหนดโดย “การกินนมของทารก” ซึ่งก็คือ หากทารกหิวจะกระตุ้นโดยการดูดนมนานและทารกจะหยุดการกระตุ้นเมื่อทารกอิ่ม นมแม่จะย่อยง่าย ดังนั้นทารกจึงส่งสัญญาณว่าต้องดูดหรือกินทุก 2-3 ชั่วโมง (บางครั้งบ่อยกว่านั้น) หรืออย่างน้อย 8 ครั้งในทุก 24 ชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ   แต่ในทารกบางคนอาจมีลักษณะการกินนมถี่หรือกระจุกตัวอยู่ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก และจะกินนมน้อยลงในช่วง 24 ชั่วโมงที่ถัดไป

ขณะที่มารดาให้นมแม่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติและฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำนม การสร้างน้ำนมได้รับอิทธิพลในเชิงบวกจากการดูดนมตั้งแต่ในระยะแรก ดูดนมบ่อย และดูดนมอย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับอิทธิพลเชิงลบจะเป็นผลจากการเริ่มทารกดูดนมช้าและดูดนมไม่บ่อยพอ หรือการให้ทารกกินของเหลวหรืออาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ก่อนทารกอายุหกเดือน1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.