คลังเก็บป้ายกำกับ: นมแม่สร้างได้อย่างไร?

นมแม่สร้างได้อย่างไร?

นมแม่สร้างได้อย่างไร?

 

? ? ? ? ? ธรรมชาติสร้างให้คุณแม่ทุกคนมีน้ำนมให้ลูก น้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละชนิดก็จะมีสัดส่วนของสารอาหารเหมาะสมสำหรับตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นๆ ดังนั้นเราไม่ควรละเลยเรื่องนมแม่ มาดูกลไกการสร้างน้ำนมของคุณแม่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

? ? ? ? ? นมแม่ จะเริ่มผลิตตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์โดยการกระตุ้นของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ได้แก่ โปรแลคติน ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างจากรกจะคอยยับยั้งไม่ให้เกิดการหลั่งหรือมีน้ำนมไหลออกมา เมื่อเกิดการคลอดรก ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดต่ำลง1 กลไกการยั้บยั้งน้ำนมหายไป ทำให้ฤทธิ์ของฮอร์โมนโปรแลคตินเด่นชัดขึ้น เมื่อลูกดูดนมจะเกิดการกระตุ้นให้ฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้นอีก การสร้างน้ำนมก็จะมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันการดูดนมจะกระตุ้นฮอร์โมนออกซีโตซินที่ช่วยในการหลั่งหรือทำให้เกิดการไหลของน้ำนม ช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้น การกระตุ้นให้ฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ควรให้ลูกกระตุ้นดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง

? ? ? ? ? โดยปกตินมแม่จะเริ่มมีภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยในระยะแรกจะเป็นน้ำนมเหลือง (colostrum) ซึ่งจะเป็นน้ำนมที่มีภูมิคุ้มกันอยู่สูง ประมาณ 4 วันหลังคลอดน้ำนมเหลืองจะเปลี่ยนเป็นน้ำนมช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional milk) จากนั้น 10 วันหลังคลอดจะเปลี่ยนเป็นนมแม่ปกติ ในน้ำนมแม่ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อลูกครบถ้วน โดยจะมีไขมันที่ให้พลังงานในสัดส่วนที่มากที่สุด รองลงมาคือ น้ำตาลแลคโตส ที่สามารถย่อยและดูดซึมได้ดี ทารกสามารถนำสารอาหารนี้ไปใช้ได้เร็ว นอกจากนี้ยังมีโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ในกรณีที่คุณแม่มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง น้ำนมแม่จะมีสัดส่วนของสารอาหารคงที่ไม่ได้ขึ้นกับการรับประทานอาหารของคุณแม่ในแต่ละมื้อ แต่หากมีคุณแม่มีภาวะขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารเสริมอาจจำเป็น มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการมาช้าหรือเร็วของน้ำนม2-4 ได้แก่

– ลำดับครรภ์ คุณแม่ท้องแรกจะมีน้ำนมช้ากว่าท้องหลัง

– คุณแม่ที่มีระยะเบ่งคลอดที่ยาวนานหรือมีภาวะเครียดระหว่างการคลอดจะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การผ่าตัดคลอด คุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด น้ำนมจะมาช้ากว่าคุณแม่ที่คลอดปกติ

– หัวนมแบนหรือบอด จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การใช้ขวดนม จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– คุณแม่ที่อ้วน หรือมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การที่มีเศษของรกค้างอยู่ในมดลูก จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

– การให้ลูกกระตุ้นดูดนมหรือปั๊มนมห่างเกินไป จะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้า

? ? ? ? ? จะเห็นปัจจัยหลายอย่างที่สัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้าสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากน้ำนมมาเร็วและมามาก คุณแม่จะมั่นใจในการให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากน้ำนมแม่มาช้าก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ความพยายามกระตุ้นโดยให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอทุก 2-3 ชั่วโมงจะทำให้น้ำนมแม่มาเร็วขึ้นและเพียงพอได้ ขอให้คุณแม่ทุกคนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.
  2. Rasmussen KM, Kjolhede CL. Prepregnant overweight and obesity diminish the prolactin response to suckling in the first week postpartum. Pediatrics 2004;113:e465-71.
  3. LoveladyCA. Is maternal obesity a cause of poor lactation performance? Nutr Rev 2005; 63:352-5.
  4. Dewey KG, Nommsen-Rivers LA, Heinig MJ, Cohen RJ. Risk factors for suboptimal infant breastfeeding behavior, delayed onset of lactation, and excess neonatal weight loss. Pediatrics 2003;112:607-19.

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์