คลังเก็บป้ายกำกับ: ท่าอุ้มทารกให้นมแม่แบบขวางตักประยุกต์อาจทำให้หัวนมแม่บาดเจ็บ

ท่าอุ้มทารกให้นมแม่แบบขวางตักประยุกต์อาจทำให้หัวนมแม่บาดเจ็บ

IMG_1597

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โดยปกติหลังคลอด มารดาจะได้รับการสอนท่าในการให้นมลูกที่มักใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ ท่าอุ้มขวางตัก ท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ ท่าอุ้มฟุตบอล และท่านอนตะแคง นอกจากนี้ ยังมีท่าอุ้มเอนหลัง (laid back) ที่เริ่มมีการใช้กันมากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลว่าน่าจะช่วยในการพัฒนาการของทารกได้ดี แต่มีการศึกษาที่พบว่า การอุ้มทารกให้นมท่าขวางตักประยุกต์สัมพันธ์กับการทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมแม่เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า (95%CI 1.03-3.50)1 ซึ่งในการปฏิบัติท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ มารดาจะใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะทารก ควบคุม และขยับเข้าเต้าได้ดี แต่หากการเข้าเต้านั้นทำโดยไม่เหมาะสม ทารกเอียงคอ หรือมารดาใช้มือกดศีรษะทารกมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมได้ ดังนั้น นอกจากการสังเกตการใช้ท่าต่างๆ ในการให้นมแล้ว มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องดูลักษณะสำคัญสี่ประการ ได้แก่ ศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดกับมารดา ทารกหันหน้าเข้าหาเต้านม โดยตำแหน่งของจมูกอยู่ที่เต้านม และเมื่อทารกเข้าเต้าทารกจะอมทั้งหัวนมและลานนม โดยจะสังเกตเห็นลานนมด้านบนมากกว่าด้านล่าง นอกจากนี้ การสอนให้มารดาให้นมบุตรได้มากกว่าสองท่าก่อนกลับบ้านจะสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกที่ยาวนานขึ้นด้วย2

เอกสารอ้างอิง

  1. Thompson R, Kruske S, Barclay L, Linden K, Gao Y, Kildea S. Potential predictors of nipple trauma from an in-home breastfeeding programme: A cross-sectional study. Women Birth 2016.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Ketsuwan S, Sinutchanan W. The Number of Infant Feeding Positions and the 6-Month Exclusive Breastfeeding Rates. J Med Assoc Thai 2015;98:1075-81.