คลังเก็บป้ายกำกับ: ทำไมมารดาที่ให้ลูกกินนมแม่แล้วจึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

ทำไมมารดาที่ให้ลูกกินนมแม่แล้วจึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่แล้วลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง มีคำอธิบายจาก 3 สมมติฐาน ได้แก่

  • การตั้งค่าใหม่ (reset hypothesis)1 คือ ร่างกายของมารดาจะมีการตั้งค่าการเผาพลาญอาหารใหม่ขณะที่มีการให้นมลูก ซึ่งการตั้งค่าใหม่นี้จะลดการสะสมไขมัน ลดการผลิตอินซูลิน ลดความต้านทานอินซูลิน (insulin resistance) และลดไขมันในกระแสเลือด ซึ่งจะเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับการเผาพลาญอาหารของร่างกายขณะตั้งครรภ์ โดยผลที่เกิดขึ้นจะทำให้มารดาลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิกรวมทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังมีผลต่อน้ำหนักของมารดาที่ลดลงหลังคลอด และสัดส่วนปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายมารดา ซึ่งลดลงด้วย
  • การหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน2 ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากการดูดนมของทารก โดยฮอร์โมนออกซิโตซินจะทำหน้าที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด ซึ่งจะลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
  • การลดลงของ ghrelin และโปรตีนเปปไทด์ YY (protein peptide YY)2 ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากทางเดินอาหารที่จะถูกกระตุ้นโดยการให้นมลูก โดยฮอร์โมนเหล่านี้จะออกฤทธิ์ควบคุมการอยากอาหาร ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมการกิน และลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Stuebe AM, Rich-Edwards JW. The reset hypothesis: lactation and maternal metabolism. Am J Perinatol 2009;26:81-8.
  2. Park S, Choi NK. Breastfeeding and Maternal Hypertension. Am J Hypertens 2018;31:615-21.