รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โดยทั่วไปมารดาส่วนใหญ่จะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่มีความเสี่ยงที่จะปริมาณน้ำนมน้อยหรือมีความวิตกกังวล อาจปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้ เพื่อช่วยให้การสร้างน้ำนมมาเร็วและมีการสร้างน้ำนมปริมาณมากพอ คือ
- การช่วยให้ทารกได้กินนมแม่ทันทีหลังคลอด โดยหากทารกไม่สามารถดูดนมจากเต้าได้ การบีบน้ำนมด้วยมือสามารถจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้1
- การให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อภายในครึ่งชั่วโมงหลังคลอดบุตร นานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม1
- การให้ทารกอ้าปากอมหัวนมและลานนมหรือเข้าเต้าได้ถูกต้อง ไม่ใช้จุกนมเทียมหรือหัวนมหลอกซึ่งอาจทำให้ทารกสับสนในลักษณะของการดูดและอาจไปลดการกระตุ้นการสร้างน้ำนม
- การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่ให้อาหารอื่นหรือน้ำ
- การให้ลูกกินนมบ่อย ๆ ตามความต้องการของลูก เริ่มตั้งแต่ระยะที่เป็นหัวน้ำนม ปกติการให้ลูกกินนมจะให้ทุก 2-3 ชั่วโมง โดยระยะเวลาในการให้นมให้ตามความต้องการของลูกเช่นกัน2 สำหรับมารดาที่ให้นมห่างมากกว่า 3 ชั่วโมงก่อนการกลับจากโรงพยาบาลสัมพันธ์กับการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 2 เดือนหลังคลอด3
- การให้ลูกกินนมในช่วงกลางคืน เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลคตินที่ช่วยในการสร้างน้ำนมจะมีปริมาณสูง
เอกสารอ้างอิง
- Morton J, Hall JY, Pessl M. Five steps to improve bedside breastfeeding care. Nurs Womens Health 2013;17:478-88.
- Kent JC, Mitoulas LR, Cregan MD, Ramsay DT, Doherty DA, Hartmann PE. Volume and frequency of breastfeedings and fat content of breast milk throughout the day. Pediatrics 2006;117:e387-95.
- Plewma P. Prevalence and factors influencing exclusive breast-feeding in Rajavithi Hospital. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 3:S94-9.