รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมีคำถามว่า “มารดาควรเสริมวิตามินใดระหว่างให้นมแม่” คำตอบสำหรับคำถามนี้คือ ควรเสริมวิตามินที่เสี่ยงในการขาดขณะให้นมแม่ แล้วจะทราบว่าวิตามินใดที่เสี่ยงในการขาดขณะให้นมแม่ พบว่ามีสองลักษณะได้แก่ วิตามินที่ปกติพบในน้ำนมน้อย ได้แก่ วิตามินเค ซึ่งแนะนำให้ฉีดให้แก่ทารกแรกเกิดทุกรายหลังคลอด และวิตามินหรือแร่ธาตุที่พบในน้ำนมน้อยจากมารดาได้รับวิตามินหรือแร่ธาตุนั้นน้อย โดยมารดาอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุนั้น ในต่างประเทศที่มีแสงแดดระหว่างวันน้อย มารดาจึงมีโอกาสขาดวิตามินดีสูง จึงแนะนำให้เสริมวิตามินดี 400 ยูนิตต่อวัน1 สำหรับในประเทศไทยในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีน การให้ไอโอดีนเสริมแก่มารดาระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะมีความจำเป็น ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก การเสริมธาตุเหล็กให้แก่มารดาในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะมีความจำเป็น นอกจากนี้ ควรเสริมธาตุเหล็กให้แก่ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวช่วงที่ทารกอายุ 4-6 เดือนเนื่องจากความต้องการธาตุเหล็กในทารกเพิ่มขึ้นเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นขณะที่ธาตุเหล็กในน้ำนมแม่ไม่เพิ่มขึ้น สำหรับวิตามินดี แม้ในประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีแสงแดดจัดระหว่างวัน แต่ค่านิยมที่หลีกเลี่ยงการออกแดดในสังคมเมืองมากขึ้น และมีรายงานพบในสตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินดีสูง แนวโน้มจึงมีโอกาสที่มารดาระหว่างให้นมบุตรจะมีการขาดวิตามินดีเช่นกัน ซึ่งหากมีการขาดในมารดาก็ควรเสริมวิตามินดีในทารกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามว่า “การให้นมแม่สามารถให้ในที่สาธารณะได้หรือไม่” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ การให้นมแม่โดยทั่วไปได้รับการยอมรับว่าสามารถให้ในที่สาธารณะได้1 อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยในสมัยก่อนยังมีความเชื่อเรื่องการให้นมลูกเป็นเรื่องส่วนตัว ควรกระทำเฉพาะในที่รโหฐาน ดังนั้นจึงมีการใส่ความเชื่อต่าง ๆ ไว้ในแนวทางการปฏิบัติสำหรับมารดาหลังคลอด เช่น หลังคลอดมารดาไม่ควรออกมาโดนลม ก็คือแนะนำให้อยู่เฉพาะในบ้าน หรือการอยู่เดือน ที่แนะนำให้มารดาห้ามออกนอกบ้านจนกว่าจะครบหนึ่งเดือน ความเชื่อและแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้ หากมองอย่างวิเคราะห์ก็อาจเห็นประโยชน์ที่ว่าในมารดาหลังคลอดมีการเสียเลือด อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ การติดเชื้อง่าย เช่นเดียวกับทารกแรกเกิดที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน การที่มารดาและทารกออกนอกบ้านไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น ในรถประจำทาง ในโรงหนัง อาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคซึ่งจะเกิดอันตรายแก่มารดาและทารกได้ แต่หากเมื่อเวลาผ่านไปนาน และทารกอายุมากขึ้น การที่มารดาและทารกจะออกไปนอกบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่อย่างไรก็ดี การหลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด อากาศไม่ถ่ายเทก็ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของมารดาและทารกได้ นอกจากนี้ ในสถานที่สาธารณะในปัจจุบัน ยังมีการช่วยเหลือโดยจัดเป็นมุมนมแม่ที่จะเอื้อให้มารดาให้นมทารกในมุมนมแม่ในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสาธารณะบางแห่ง ซึ่งจะลดการเขอะเขินหรือการถูกมองในขณะที่ให้นมในที่สาธารณะได้
เอกสารอ้างอิง
- Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามว่า “จะยังคงให้นมแม่แก่ทารกได้ไหม เมื่อมารดาต้องกลับไปทำงาน” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ การให้นมแม่แก่ทารกในกรณีที่มารดากลับไปทำงาน สามารถให้ได้1 โดยอาจมีการแนะนำที่เหมาะสมสำหรับมารดาในแต่ละคน ในกรณีที่มารดาทำงานใกล้บ้าน อาจใช้เวลาช่วงพักกลับบ้านมาให้นมลูกในระหว่างวัน แต่ในกรณีที่มารดาทำงานนอกบ้านและอยู่ไกลจะบ้าน การใช้เครื่องปั๊มนม ปั๊มนมแม่ในระหว่างเวลาพักในที่ทำงาน โดยความถี่ของการปั๊มนมเทียบเท่ากับช่วงเวลาที่ทารกหิวในระหว่างวัน และมารดาควรได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษานโยบายที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของหน่วยงานด้วย เพราะหากองค์กรที่มารดามีนโยบายที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาอาจได้รับเวลาที่ปั๊มนมแม่บ่อยขึ้น มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปั๊มนม หรืออาจมีการสนับสนุนเครื่องปั๊มนม และตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาน้ำนมในระหว่างที่มารดาเก็บที่ทำงาน น้ำนมแม่ที่มารดาเก็บได้ในช่วงที่มารดาทำงาน จะใช้ในการให้แก่ทารกในช่วงเวลาที่มารดาทำงาน สำหรับช่วงก่อนเวลาทำงานและหลังเลิกงานที่มารดาอยู่ที่บ้าน มารดายังคงสามารถจะให้ทารกกินนมจากเต้านมของมารดาโดยตรงได้
เอกสารอ้างอิง
- Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามว่า “เมื่อให้ลูกดูดนมแม่ มารดารู้สึกเจ็บหัวนม ควรทำอย่างไร” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ อาการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังคลอดใหม่ภายในสัปดาห์แรก โดยเกิดขึ้นนาน 30-60 วินาทีขณะทารกเริ่มดูดนมแล้วดีขึ้น อาการนี้เป็นอาการปกติที่พบเจอได้ มักเกิดจากหัวนมที่ไวต่อการสัมผัสหรือการดูดนม ซึ่งจะหายไปได้เองในหนึ่งสัปดาห์1 แต่หากอาการเจ็บหัวนมเจ็บเมื่อทารกเริ่มดูดนมและเพิ่มมากขึ้น อาการเป็นอยู่นานกว่าหนึ่งสัปดาห์ มีหัวนมแตก มีไข้ มีการอักเสบ บวม แดง ร้อนของเต้านมร่วมด้วย มารดาควรไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยสาเหตุของการเจ็บหัวนมที่ผิดปกตินี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสาเหตุจากภาวะลิ้นติดของทารก การที่มารดามีน้ำนมมาก และการมีหัวนมแตก เป็นแผล อักเสบ หรือมีภาวะแทรกซ้อนของเต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม อย่างไรก็ตาม แม้มีภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เกิดขึ้น ขณะทำการรักษา มารดาก็ยังสามารถให้นมลูกอย่างต่อเนื่องได้
เอกสารอ้างอิง
- Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามกับหมอผู้ให้การดูแลว่า “มารดาควรให้ลูกกินนมนานแค่ไหน” คำตอบที่ควรให้แก่มารดาคือ มารดาควรให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้อาหารอื่นแก่ทารกในหกเดือนแรกหลังการเกิด1 หลังจากนั้นควรให้นมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งทารกอายุครบสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งก็หมายความว่านมแม่อย่างเดียวก็เป็นอาหารทารกที่พอเพียงสำหรับในทารกหกเดือนหลังเกิด แต่หลังจากหกเดือนไปแล้วแม้นมแม่ยังมีประโยชน์สูงแต่ก็มีสารอาหารที่ไม่เพียงพอสำหรับทารกที่เจริญเติบโตขึ้น จำเป็นต้องให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัย โดยระยะเวลาที่แนะนำควรสองปีหรือนานกว่านั้นก็ยังได้ประโยชน์จากการกินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
- Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)