รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? เมื่อมารดาตั้งครรภ์ หากมารดามาฝากครรภ์ ควรมีการแนะนำและเตรียมความพร้อมให้กับมารดาในกรณีที่มารดาตัดสินใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมารดาส่วนใหญ่ หากได้รับฟังข้อมูลที่เพียงพอและครบถ้วนถึงประโยชน์และความสำคัญของการให้ลูกกินนมแม่ที่จะช่วยทั้งสุขภาพของตัวมารดาเองและต่อลูก มารดามักจะเลือกที่จะให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งการตัดสินใจจะส่งผลต่อความตั้งใจในการที่จะให้ลูกได้กินนมแม่ อย่างไรก็ตาม การให้คำแนะนำควรมีความต่อเนื่องและให้อย่างเหมาะสมกับช่วงเวลาที่มารดาจะต้องเตรียมตัวสำหรับการให้นมบุตร รวมทั้งในระยะคลอดและแรกคลอด หากมารดาอยู่ในระยะคลอดที่ยังมีอาการเจ็บครรภ์ไม่มาก การแนะนำกระบวนการต่าง ๆ ระหว่างการคลอดที่ช่วยสนับสนุนให้มารดาเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็ว ได้แก่ การให้ทารกได้รับการโอบกอดสัมผัสเนื้อแนบเนื้อและดูดนมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งจะกระตุ้นน้ำนมและระบบฮอร์โมนที่เอื้อต่อการให้นม น้ำนมมารดาจะมาเร็ว ร่วมกับการกระตุ้นให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ดูดจนเกลี้ยงเต้า จะทำให้การสร้างน้ำนมมามากขึ้น ซึ่งต้องทำร่วมกับการสอนการจัดท่าให้นมลูกอย่างเหมาะสมและนัดติดตามช่วยแก้ปัญหาระหว่างการให้นมลูกเป็นระยะ ๆ ดังนั้น จะเห็นว่า กระบวนการการกระตุ้นสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องการความต่อเนื่องตั้งแต่ระยะการดูแลครรภ์ การคลอด หลังคลอด และติดตามไปจนถึงการเยี่ยมบ้านหรือโทรศัพท์ติดตาม โดยกระบวนการเหล่านี้ได้รับการศึกษาว่าช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1
เอกสารอ้างอิง
- Primary Care Interventions to Support Breastfeeding: Recommendation Statement. Am Fam Physician 2017;95:Online.