รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?จากการศึกษาภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในกลุ่มทารกที่คลอดปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนในประเทศไทย 1649 รายตรวจพบภาวะลิ้นติดร้อยละ 14.9 โดยหากแบ่งอุบัติการณ์ตามรุนแรงเป็นภาวะลิ้นติดเล็กน้อยพบร้อยละ 7.5 ภาวะลิ้นติดปานกลางพบร้อยละ 5.7 และภาวะลิ้นติดรุนแรงพบร้อยละ 1.61 โดยในทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงมีคะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) ที่น้อยกว่า 8 มากกว่าทารกปกติ 1.4 เท่า2 ภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาก่อนกลับบ้านจะเป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเจ็บหัวนมของมารดาที่สัปดาห์แรกหลังคลอดคือร้อยละ 23.2 (รองจากการจัดท่าหรือเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสมที่พบร้อยละ 72.3) โดยทั่วไป การรักษาภาวะลิ้นติดทำได้โดยการผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นออก (frenotomy) ให้ทารกสามารถแลบลิ้นออกมาได้ดีขึ้น (ระยะจากจุดยึดติดของพังผืดใต้ลิ้นถึงปลายลิ้นควรจะมีระยะประมาณ 12 มิลลิเมตรเท่ากับเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะลิ้นติดเล็กน้อยที่ไม่มีผลต่ออาการเจ็บหัวนมของมารดาและไม่มีผลต่อคะแนนการเข้าเต้า) การผ่าตัดสามารถทำได้ที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยการทำการใช้กรรไกรหรือจี้ไฟฟ้าตัดพังผืดออก ทารกไม่จำเป็นต้องใช้ยาดมสลบ หลังการผ่าตัดทารกสามารถกินหรือดูดนมแม่ได้ทันที และพบว่าอาการเจ็บหัวนมและคะแนนการเข้าเต้าของทารกดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ3 ดังนั้น ภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงจึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่บุคลากรทางการแพทย์ควรเอาใจใส่ในการตรวจดูช่องปากทารกทุกราย เนื่องจากมารดาที่มีทารกมีภาวะลิ้นติดมีความเสี่ยงในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสัปดาห์แรกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า4 เหตุผลอาจจะเป็นจากทารกที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะลิ้นติด ทำให้มารดาเจ็บหัวนม และการเจ็บหัวนมของมารดาอาจนำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ หัวนมแตก เต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมได้ แต่ในมารดาบางคนที่สามารถทนให้นมต่อไปได้ระยะหนึ่งมีรายงานว่าประมาณ 2 เดือน พังผืดใต้ลิ้นจะยึดออกได้ ร่วมกับทารกที่โตมากขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้นจากขนาดของปากที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเปรียบเทียบผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทารกกลุ่มนี้กับทารกปกติไม่พบความแตกต่างกันของระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5 ทำให้การผ่าตัดรักษาหลังอาจไม่ได้ประโยชน์ สำหรับผลของภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในระยะยาว มีรายงานว่าความสัมพันธ์การออกเสียงในการพูด โดยอาจพบมีความยากในการออกเสียงอักษรภาษาอังกฤษ T, D, Z, S, N, J, L, CH, TH, DG และ R 6,7 แต่ไม่ได้พบว่าเป็นสาเหตุของการพูดช้า6
เอกสารอ้างอิง
- Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
- Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.
- Wongin S, Puapornpong P, Baiya N, Panwong W. Comparison of efficacy of breastfeeding in tongue-tie newborns before and after frenotomy. J Med Health Sci 2017 (in press).
- Ricke LA, Baker NJ, Madlon-Kay DJ, DeFor TA. Newborn tongue-tie: prevalence and effect on breast-feeding. J Am Board Fam Pract 2005;18:1-7.
- Buryk M, Bloom D, Shope T. Efficacy of neonatal release of ankyloglossia: a randomized trial. Pediatrics 2011;128:280-8.
- Lalakea ML, Messner AH. Ankyloglossia: does it matter? Pediatric Clinics of North America 2003;50:381-97.
- Chaubal TV, Dixit MB. Ankyloglossia and its management. J Indian Soc Periodontol 2011;15:270-2.