รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่แม่และลูกได้อยู่ด้วยกันหลังคลอดเป็นการเติมเต็มทางอารมณ์และเป็นความจำเป็นทางสรีรวิทยาที่จะเป็นผลดีต่อแม่และลูก1 ซึ่งหากมารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อร่วมด้วย ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2 การที่มารดาและทารกได้อยู่ด้วยกัน ทารกจะมีความรู้สึกที่อบอุ่นและปลอดภัย มารดาจะสามารถเรียนรู้อาการที่ทารกบ่งบอกว่าตนเองหิว ทำให้มารดาสามารถให้นมทารกได้ตามที่ทารกต้องการ ซึ่งการที่มารดาให้นมทารกได้อย่างเหมาะสม ทารกจะไม่หงุดหงิด ไม่ขบหรืองับหัวนมแรง มารดาก็ไม่เจ็บหัวนมและการที่ทารกดูดนมก็จะเป็นวิธีที่ดีที่จะลดอาการปวดเต้านมจากอาการตึงคัด เนื่องจากการดูดนมของทารกจะทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้าได้ดีกว่าการปั๊มนม จึงช่วยป้องกันการขังของน้ำนมในท่อน้ำนมซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านมได้ ดังนั้น จึงต้องเปิดโอกาสให้มารดาและทารกได้อยู่ด้วยกัน มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อโดยปราศจากการรบกวน มีการเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน ก็จะเป็นภาวะที่พึ่งพากันที่จะได้ประโยชน์ทั้งต่อแม่ ต่อลูก และต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Crenshaw JT. Healthy Birth Practice #6: Keep Mother and Newborn Together-It’s Best for Mother, Newborn, and Breastfeeding. J Perinat Educ 2019;28:108-15.
- Cinquetti M, Colombari AM, Battisti E, Marchetti P, Piacentini G. The influence of type of delivery, skin-to-skin contact and maternal nationality on breastfeeding rates at hospital discharge in a baby-friendly hospital in Italy. Pediatr Med Chir 2019;41.