คลังเก็บป้ายกำกับ: การให้นมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์

การให้นมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีมากมายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันและพัฒนาการของทารก ซึ่งในทารกกลุ่มอาการดาวน์การได้รับนมแม่ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทารกเช่นกัน แต่การที่จะให้ทารกกลุ่มอาการดาวน์กินนมแม่ได้ ต้องมีการประเมินการดูดนมของทารก เพราะทารกกลุ่มอาการดาวน์จะมีกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง อาจมีผลต่อการที่จะสร้างแรงดูดขณะทารกดูดนมจากเต้า นอกจากนี้ ทารกกลุ่มอาการดาวน์มักมีลิ้นคับปาก ทำให้การเข้าเต้าหรือการอมหัวนมและลานนมทำได้ไม่ดี ซึ่งอาจต้องมีการเลือกจัดท่าการให้นมลูกที่เหมาะสมที่จะช่วยให้ทารกสามารถอมหัวนมและลานนมได้ลึกพอ การประเมินทารกกลุ่มอาการดาวน์จึงมีความสำคัญเนื่องจากทารกกลุ่มอาการดาวน์บางคนอาจมีอาการน้อยสามารถดูดนมแม่จากเต้าได้เลย แต่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์บางคนอาจมีอาการมาก การเริ่มต้นให้นมแม่อาจให้โดยการใช้สายยางต่อหลอดฉีดยา หรือป้อนถ้วยไปก่อน จนกว่าทารกจะมีพัฒนาการดีขึ้น เจริญเติบโตขึ้น เข้าเต้าดูดนมจากเต้านมได้เอง ซึ่งการให้คำแนะนำและให้ปรึกษามารดาอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์ได้ นอกจากนี้ หากสามารถป้องกันและลดความเจ็บป่วยของทารกกลุ่มอาการดาวน์ลงได้ ก็จะช่วยให้การคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยที่พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการหยุดการกินนมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์เกิดจากการที่ทารกเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล1

เอกสารอ้างอิง

  1. Genova L, Cerda J, Correa C, Vergara N, Lizama M. Good health indicators in children with Down syndrome: High frequency of exclusive breastfeeding at 6 months. Rev Chil Pediatr 2018;89:32-41.

 

การให้นมแม่ในทารกกลุ่มอาการดาวน์

409789_12123833_0

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?กลุ่มอาการดาวน์เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทารกจะมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาต่ำ มีความผิดปกติในช่องปาก คือ ปากเล็ก ลิ้นจะคับแน่นยื่นออกมา และมีกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบร่วม ได้แก่ ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติของกระเพาะหรือลำไส้ โดยอาจมีส่วนของกระเพาะที่อุดตันหรือมีลำไส้ที่บีบแคบ (microcolon หรือ Hirschsprung disease) มารดาหรือผู้ดูแลจำเป็นต้องทราบความผิดปกติของทารกที่มีทั้งหมด เพื่อการวางแผนการให้นมที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในทารกกลุ่มอาการดาวน์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อที่หู มีพัฒนาการทางด้านการพูดและภาษาช้าด้วย ดังนั้น การที่ให้ทารกได้รับนมแม่จะเป็นผลดีในด้านการป้องกันการติดเชื้อ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางระบบประสาทและการรับรู้ของทารกให้ดีขึ้น การที่มารดาได้พูดคุยกับทารกขณะกินนมจะช่วยพัฒนาการทางด้านภาษา อย่างไรก็ตาม ทารกเหล่านี้จะมีความยากลำบากในการให้นมแม่ โดยอาจจะเข้าเต้าได้ไม่ดีจากการที่มีปากเล็กและลิ้นยื่นออกมา แรงในการดูดนมอาจมีน้อยและอาจดูดนมได้ไม่นานจะมีอาการเหนื่อย การฝึกฝนจำเป็นต้องประเมินทารกว่าสามารถเข้าเต้าและดูดนมจากเต้าได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ ต้องมีการประเมินว่าทารกสามารถดูดนมได้เพียงพอหรือไม่ มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์หรือไม่ หากทารกเหนื่อยและดูดนมได้ไม่นาน การให้นมบ่อยๆ ร่วมกับการอาจมีการป้อนนมเสริมโดยอาจใช้สายยางต่อหลอดฉีดยาช่วยให้นมแก่ทารกอาจจำเป็น สำหรับทารกที่ไม่สามารถเข้าเต้าได้ในระยะแรก การใช้วิธีการป้อนนมด้วยช้อน หรือป้อนนมด้วยถ้วยก่อน การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบ่อยๆ และกระตุ้นนวดทารกจะช่วยได้ โดยเมื่อทารกโตขึ้น ช่องปากกว้างขึ้น แรงในการดูดดีขึ้น ทารกจะสามารถดูดนมจากเต้าได้ด้วยตนเอง สำหรับท่าในการให้นม อาจใช้ท่าที่ใช้มือประคองบริเวณคางหรือแก้มของทารก (Dancer?s hold position) จะช่วยพยุงและทำให้ทารกกินนมได้นานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.