คลังเก็บป้ายกำกับ: การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ของครรภ์แฝด

การให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนบางวิธีหากมีการให้คำปรึกษาที่ไม่เหมาะสมอาจมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น การให้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ดังนั้น การให้คำปรึกษาในเรื่องการคุมกำเนิดหลังคลอดสำหรับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น บุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาควรมีความรู้ และควรหลีกเลี่ยงอคติที่มีต่อการคุมกำเนิดชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรเปิดโอกาสที่จะให้มารดาได้มีโอกาสเลือกหลังจากที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดในแต่ละวิธีอย่างเหมาะสม1 การที่บุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้คำปรึกษามีอคติกับวิธีการคุมกำเนิดวิธีใดวิธีหนึ่งย่อมส่งผลต่อการให้คำปรึกษาและอาจมีผลส่งต่อไปถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยก็ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bryant AG, Lyerly AD, DeVane-Johnson S, Kistler CE, Stuebe AM. Hormonal contraception, breastfeeding and bedside advocacy: the case for patient-centered care. Contraception 2019;99:73-6.

การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ของครรภ์แฝด

IMG_1480

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ โดยภาวะครรภ์แฝดทำให้มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้หลายอย่าง ได้แก่ อาการแพ้ที่อาจพบรุนแรงมากกว่า ท้องใหญ่มากกว่าทำให้มารดาอึดอัด พบภาวะเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด รกเกาะต่ำ ทารกน้ำหนักตัวน้อยได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการคลอด โดยพบว่าต้องมีการผ่าตัดทำคลอดสูงกว่าครรภ์ปกติ และหลังคลอด ยังพบความเสี่ยงในการตกเลือดหลังคลอดได้มากกว่าด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลและเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ในมารดาครรภ์แฝดมีความสำคัญและยังมีความจำเป็น แม้ว่ามีการศึกษาว่าอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝดก็ตาม1 เนื่องจากการให้คำปรึกษา จะทำให้มารดาทราบถึงภาวะแทรกซ้อนที่พบมากกว่า ทำให้การเตรียมตัวเตรียมใจของมารดาทำได้ดีกว่า แม้ว่าหากเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ต้องแยกจากทารก คือ ทารกอาจจำเป็นต้องเข้าตู้อบและเลี้ยงดูอยู่ที่หอทารกแรกเกิดวิกฤต อย่างน้อยการเตรียมพร้อมของมารดาก็ทำให้มารดาเผชิญหน้ากับภาวะแทรกซ้อนที่พบและมีความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ สร้างความเข้าใจ ลดความเครียด และปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากภาวะแทรกซ้อนของครรภ์แฝดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mikami FC, de Lourdes Brizot M, Tase TH, Saccuman E, Vieira Francisco RP, Zugaib M. Effect of Prenatal Counseling on Breastfeeding Rates in Mothers of Twins. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2017.