คลังเก็บป้ายกำกับ: การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนระหว่างการให้นมบุตร

การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในสตรีตั้งครรภ์

IMG_9466

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เมื่อสตรีตั้งครรภ์มักมีอาการแพ้ในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งอาการในมารดาแต่ละคนมีมากน้อยไม่เท่ากัน ในมารดาที่มีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารโดยกินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น จะช่วยให้มารดาสามารถรับประทานอาหารได้ การกินน้ำหวานจะช่วยลดอาการอ่อนเพลียในมารดาที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก นอกจากนี้ การใช้การแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ยังสามารถลดการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนได้ ได้แก่ การดื่มน้ำขิง การฝังเข็ม แต่ในมารดาบางคนที่มีอาการมาก การเริ่มต้นใช้ยาอาจมีความจำเป็น ยาที่ใช้เป็นทางเลือกแรก ได้แก่ วิตามินบีหก ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น อาจให้ dimenhydramine ร่วมด้วย ยานี้อาจทำให้มารดาง่วงนอนได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยา ondansetron ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าประโยชน์ของการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงในการใช้ยา อย่างไรก็ตาม มีรายงานบางการศึกษาพบว่า การใช้ยานี้อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติของหัวใจโดยเฉพาะที่ลิ้นหัวใจ1 ดังนั้น แม้สมาคมสูตินรีแพทย์ของอเมริกาจะแนะนำให้ใช้ได้โดยมีความเสี่ยงต่ำ แต่การใช้ควรมีการเฝ้าระวังและติดตามรายงานผลด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Carstairs SD. Ondansetron Use in Pregnancy and Birth Defects: A Systematic Review. Obstet Gynecol 2016;127:878-83.

การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนระหว่างการให้นมบุตร

407434_12078548_0

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาที่มักใช้บ่อย ได้แก่ ยา dimenhydrinate ยา ondansetron ยา domperidone และยา metoclopramide การใช้ยาเหล่านี้ มีความปลอดภัย โดยมีการใช้ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด ไม่มีการพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในมารดาและทารก1-5 แต่การใช้ dimenhydrinate ซึ่งเป็นยากลุ่ม antihistamine หากใช้ในขนาดสูงอาจมีผลต่อการลดลงของระดับฮอร์โมนโปรแลคตินได้6 และมีรายงานว่าอาจสัมพันธ์กับการกระสับกระส่ายของทารกที่มารดาใช้ยานี้7 ขนาดยาของทารกสัมพัทธ์ของยา dimenhydrinate และยา ondansetron ในทารกยังไม่พบมีรายงานที่ชัดเจน ขนาดยาของทารกสัมพัทธ์ของยา domperidone ในทารกพบน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ส่วนขนาดยาของทารกสัมพัทธ์ของยา metoclopramide พบร้อยละ 4.7 นอกจากนี้ยา domperidone และ metoclopramide ยังใช้เป็นยากระตุ้นน้ำนม (galactogogue) ในมารดาด้วย8,9

แนวทางการดูแลรักษา

??????????????? การเลือกใช้ยาเพื่อแก้คลื่นไส้อาเจียนในมารดาที่ให้นมลูก เมื่อศึกษาจากข้อมูลปัจจุบัน ควรใช้ยา ondansetron เป็นทางเลือกแรก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยา ondansetron มีราคาแพง การเลือกใช้ยา domperidone ยา metoclopramide ยา dimenhydrinate หรืออาจใช้การแพทย์ทางเลือกในการลดการคลื่นไส้อาเจียน เช่น การดื่มน้ำขิง10,11 การฝังเข็ม12 สามารถทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา domperidone ในมารดาที่มีโรคหัวใจ13 นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนลักษณะการรับประทานอาหาร โดยการรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยและเพิ่มจำนวนมื้ออาหารขึ้น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน จะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และทำให้การใช้ยาลดลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Babaei AH, Foghaha MH. A randomized comparison of vitamin B6 and dimenhydrinate in the treatment of nausea and vomiting in early pregnancy. Iran J Nurs Midwifery Res 2014;19:199-202.
  2. Abas MN, Tan PC, Azmi N, Omar SZ. Ondansetron compared with metoclopramide for hyperemesis gravidarum: a randomized controlled trial. Obstet Gynecol 2014;123:1272-9.
  3. da Silva OP, Knoppert DC, Angelini MM, Forret PA. Effect of domperidone on milk production in mothers of premature newborns: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. CMAJ 2001;164:17-21.
  4. Czeizel AE, Vargha P. A case-control study of congenital abnormality and dimenhydrinate usage during pregnancy. Arch Gynecol Obstet 2005;271:113-8.
  5. Kauppila A, Kivinen S, Ylikorkala O. Metoclopramide increases prolactin release and milk secretion in puerperium without stimulating the secretion of thyrotropin and thyroid hormones. J Clin Endocrinol Metab 1981;52:436-9.
  6. Messinis IE, Souvatzoglou A, Fais N, Lolis D. Histamine H1 receptor participation in the control of prolactin secretion in postpartum. J Endocrinol Invest 1985;8:143-6.
  7. Ito S, Blajchman A, Stephenson M, Eliopoulos C, Koren G. Prospective follow-up of adverse reactions in breast-fed infants exposed to maternal medication. Am J Obstet Gynecol 1993;168:1393-9.
  8. Winterfeld U, Meyer Y, Panchaud A, Einarson A. Management of deficient lactation in Switzerland and Canada: a survey of midwives’ current practices. Breastfeed Med 2012;7:317-8.
  9. Gupta AP, Gupta PK. Metoclopramide as a lactogogue. Clin Pediatr (Phila) 1985;24:269-72.
  10. Viljoen E, Visser J, Koen N, Musekiwa A. A systematic review and meta-analysis of the effect and safety of ginger in the treatment of pregnancy-associated nausea and vomiting. Nutr J 2014;13:20.
  11. Heitmann K, Nordeng H, Holst L. Safety of ginger use in pregnancy: results from a large population-based cohort study. Eur J Clin Pharmacol 2013;69:269-77.
  12. Knight B, Mudge C, Openshaw S, White A, Hart A. Effect of acupuncture on nausea of pregnancy: a randomized, controlled trial. Obstet Gynecol 2001;97:184-8.
  13. Doggrell SA, Hancox JC. Cardiac safety concerns for domperidone, an antiemetic and prokinetic, and galactogogue medicine. Expert Opin Drug Saf 2014;13:131-8.