คลังเก็บป้ายกำกับ: การใช้ยาเร่งคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

การใช้ยาเร่งคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การดูแลการคลอดในปัจจุบันจะดูแลมารดาที่ตั้งครรภ์และคลอดตามความเสี่ยงและจะมีการวางแผนการคลอด ซึ่งส่วนใหญ่มักให้คลอดไม่เกินกำหนดของการคลอด ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีการกระตุ้นการคลอดด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นหรือเร่งการคลอดที่ใช้บ่อย ได้แก่ ออกซิโทซิน โดยที่ออกซิโทซินที่ใช้กระตุ้นการคลอดจะเป็นออกซิโทซินสังเคราะห์ แม้ว่าในร่างกายของมารดาจะมีฮอร์โมนออกซิโทซินอยู่แล้ว ซึ่งออกซิโทซินในร่างกายของมารดาจะมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการคลอดและการดูดนมแม่ของทารก ดังนั้น อาจจะมีข้อคำถามหรือความสงสัยว่าการให้ออกซิโทซินสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการคลอดหรือเร่งคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ มีการศึกษาเพื่อตอบคำถามนี้พบว่า การให้ออกซิโทซินสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการคลอดไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 แต่หากมารดาจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด ปัจจัยเรื่องการผ่าตัดคลอดจะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่ามารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด จากข้อมูลนี้ ในมารดาที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจะได้การให้ข้อมูลถึงผลของการใช้ยากระตุ้นคลอดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากมารดามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องกระตุ้นคลอด เพื่อเป็นการลดความวิตกกังวลหรือความเครียดของมารดาและครอบครัวที่อาจไปมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Fernandez-Canadas Morillo A, Duran Duque M, Hernandez Lopez AB, et al. Cessation of breastfeeding in association with oxytocin administration and type of birth. A prospective cohort study. Women Birth 2019;32:e43-e8.

การใช้ยาเร่งคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

IMG_3608

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ขณะที่มารดาเจ็บครรภ์คลอด มาที่โรงพยาบาล และได้รับการดูแลที่ห้องคลอด มีกระบวนการในการดูแลมารดาที่คลอดหลายอย่าง ตั้งแต่ควบคุมการกินอาหารของมารดา โดยมารดาอาจได้รับการให้การงดน้ำงดอาหาร ซึ่งหากเป็นมารดาที่มีความเสี่ยงในการคลอดผิดปกติต่ำ การงดน้ำงดอาหารจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เนื่องจากทำให้มารดาอ่อนเพลียและขาดน้ำได้ การให้ยากระตุ้นการหดตัวของมดลูกเพื่อเร่งการคลอดนั้น ส่วนใหญ่มักใช้ยาที่เป็นออกซิโตซินสังเคราะห์ ซึ่งมีการศึกษาไม่พบว่ามีผลต่อการเริ่มต้นและระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ได้รับยาเร่งคลอดชนิดนี้กับมารดาที่ไม่ได้รับยา1 อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้ยาอย่างมีเหตุผลและด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากหากใช้ไม่เหมาะสมอาจเพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอดและการใช้เครื่องมือหรือหัตถการในการคลอดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Fernandez-Canadas Morillo A, Marin Gabriel MA, Olza Fernandez I, et al. The Relationship of the Administration of Intrapartum Synthetic Oxytocin and Breastfeeding Initiation and Duration Rates. Breastfeed Med 2017.