คลังเก็บป้ายกำกับ: การโอบกอดสัมผัสทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ระยะแรกหลังคลอดช่วยให้ลูกได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น

การโอบกอดสัมผัสทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ระยะแรกหลังคลอดช่วยให้ลูกได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หลังคลอด กระบวนการในการเริ่มต้นการกระตุ้นให้น้ำนมมาและเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กระบวนการแรกคือ การนำทารกมาอยู่บนอกมารดา โอบกอดสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งหลังจากนำทารกมาไว้บนอกมารดาแล้ว ต้องให้เวลาเพื่อให้ทารกได้ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างจากการอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับใน 9 ขั้นตอน คือ ร้องไห้ ผ่อนคลาย ตื่นตัว ขยับเคลื่อนไหว พัก คืบคลาน คุ้นเคย ดูดนม และหลับ ซึ่งกว่าทารกจะเริ่มดูดนมต้องอยู่บนอกมารดาราว 1 ชั่วโมง ในกระบวนการนี้มีประโยชน์หลายอย่าง โดยช่วยรักษาอุณหภูมิทารกให้คงที่ ป้องกันทารกตัวเย็น ทำให้ทารกผ่อนคลาน และการสัมผัสกระตุ้นระบบการสื่อประสาทของทารกให้เป็นระบบที่ดีที่ช่วยในการพัฒนาการของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น กระตุ้นสายสัมพันธ์ของมารดาและทารก กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนแห่งความรักคือออกซิโทซิน ซึ่งจะช่วยให้การหลั่งน้ำนมเกิดได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาถึงผลของการโอบกอดสัมผัสทารกเนื้อแนบเนื้อว่ามีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอดในช่วงสามเดือนหรือไม่ พบว่าทารกที่ได้รับการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อในช่วงสามเดือนแรก1 สิ่งนี้บ่งบอกว่า กลไกการโอบกอดเนื้อแนบเนื้ออาจจะช่วยสานสัมพันธ์ของแม่กับลูก ช่วยกระตุ้นน้ำนม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการที่มารดาที่คงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องและยาวนานยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลมากขึ้นต่อการตัดสินใจที่จะคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่อไปหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่มารดาที่เผชิญคือ การกลับไปทำงานของมารดา ที่ต้องการการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเตรียมพร้อมให้กับมารดาและบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Vila-Candel R, Duke K, Soriano-Vidal FJ, Castro-Sanchez E. Effect of Early Skin-to-Skin Mother-Infant Contact in the Maintenance of Exclusive Breastfeeding. J Hum Lact 2017:890334416676469.