คลังเก็บป้ายกำกับ: การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยลดความเครียดของมารดา

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยลดการเสียชีวิตของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อมีหลายอย่าง ได้แก่ ช่วยในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยป้องกันทารกตัวเย็น (hypothermia) ช่วยให้ทารกอบอุ่น/ลดการใช้พลังงานของทารกซึ่งจะช่วยป้องกันทารกเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก นอกจากนี้ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อยังช่วยลดการเกิดการเสียชีวิตของทารกเฉียบพลันโดยไม่ได้คาดหวัง (sudden unexpected infant death หรือ SUID) ร้อยละ 15 (OR 0.85, 95%CI 0.77-0.94)1 ในช่วง 6 วันแรกหลังคลอด ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวถึงประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bartick M, Boisvert ME, Philipp BL, Feldman-Winter L. Trends in Breastfeeding Interventions, Skin-to-Skin Care, and Sudden Infant Death in the First 6 Days after Birth. J Pediatr 2020;218:11-5.

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด

หลังคลอด จะนำทารกมาไว้บนอกมารดา แล้วใช้ผ้าคลุมด้านบน จากนั้นปล่อยให้ทารกปรับต้วอยู่บนอกของมารดาจนมีความพร้อมในการดูดนม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และควรเปิดโอกาสให้ทารกอยู่บนอกมารดาโดยปราศจากการรบกวน

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             เป็นที่ทราบกันดีว่าการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด (skin-to-skin contact) จะช่วยให้ทารกเริ่มการกินนมแม่ในระยะแรก  ซึ่งหากมารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้  การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อยังช่วยให้สายสัมพันธ์ของมารดาและทารกดีขึ้น1,2 มีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 1-4 เดือนหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสูงขึ้นด้วย3

เอกสารอ้างอิง

  1. Srivastava S, Gupta A, Bhatnagar A, Dutta S. Effect of very early skin to skin contact on success at breastfeeding and preventing early hypothermia in neonates. Indian J Public Health 2014;58:22-6.
  2. Mahmood I, Jamal M, Khan N. Effect of mother-infant early skin-to-skin contact on breastfeeding status: a randomized controlled trial. J Coll Physicians Surg Pak 2011;21:601-5.
  3. Chiou ST, Chen LC, Yeh H, Wu SR, Chien LY. Early skin-to-skin contact, rooming-in, and breastfeeding: a comparison of the 2004 and 2011 National Surveys in Taiwan. Birth 2014;41:33-8.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีดังนี้

  • ทำให้ทารกและมารดารู้สึกสงบ และช่วยให้จังหวะการหายใจและการเต้นของหัวใจทารกสม่ำเสมอ
  • ช่วยให้ทารกได้รับความอบอุ่นจากความร้อนของร่างกายของมารดา ป้องกันการเกิดอาการตัวเย็น (hypothermia) ในทารกได้1
  • ช่วยในการปรับเมตาบอรึซึ่มของน้ำตาลในเลือดของทางทารกให้คงที่
  • ช่วยให้ก่อเกิดการมีกลุ่มของแบคทีเรียในลำไส้ทารกจากมารดาที่ให้การสัมผัสแรกกับทารก ไม่ใช่จากแพทย์หรือพยาบาล
  • ลดความเจ็บปวดของทารก การให้ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาช่วยลดความเจ็บปวดของทารกจากการเจาะเลือดที่ปลายเท้าได้2
  • ลดการร้องกวนของทารก ซึ่งจะลดความเครียดและการใช้พลังงานของทารกด้วย
  • ช่วยให้สายสัมพันธ์ของมารดาและทารกดีขึ้น3 ทำให้ทารกตื่นตัวในหนึ่งถึงสองชั่วโมงแรก จากนั้นโดยปกติทารกจะหลับนาน
  • ช่วยให้ทารกเริ่มการกินนมแม่ในระยะแรกดีขึ้น1,4 ให้โอกาสทารกได้เข้าหาเต้านมและดูดนมด้วยตนเอง ซึ่งทารกจะสามารถเข้าหาเต้านมได้จากสีของหัวนมและกลิ่นของน้ำนม โดยการเข้าเต้าลักษณะนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าการแยกทารกออกไปในช่วงแรกหลังคลอด
  • ช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และช่วยเพิ่มระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5 นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย6 อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม7

             จะเห็นว่า การให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์ที่หลากหลาย รวมทั้งช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Srivastava S, Gupta A, Bhatnagar A, Dutta S. Effect of very early skin to skin contact on success at breastfeeding and preventing early hypothermia in neonates. Indian J Public Health 2014;58:22-6.
  2. Marin Gabriel MA, del Rey Hurtado de Mendoza B, Jimenez Figueroa L, et al. Analgesia with breastfeeding in addition to skin-to-skin contact during heel prick. Arch Dis Child Fetal Neonatal Ed 2013;98:F499-503.
  3. Widstrom AM, Wahlberg V, Matthiesen AS, et al. Short-term effects of early suckling and touch of the nipple on maternal behaviour. Early Hum Dev 1990;21:153-63.
  4. Mahmood I, Jamal M, Khan N. Effect of mother-infant early skin-to-skin contact on breastfeeding status: a randomized controlled trial. J Coll Physicians Surg Pak 2011;21:601-5.
  5. Karimi FZ, Sadeghi R, Maleki-Saghooni N, Khadivzadeh T. The effect of mother-infant skin to skin contact on success and duration of first breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Taiwan J Obstet Gynecol 2019;58:1-9.
  6. Karimi FZ, Miri HH, Khadivzadeh T, Maleki-Saghooni N. The Effect of Mother-Infant Skin to Skin Contact Immediately after Birth on Exclusive Breastfeeding: A Systematic Review and Meta-Analysis. J Turk Ger Gynecol Assoc 2019.
  7. Hemachandra A, Puapornpong P, Ketsuwan S, Imchit C. Effect of early skin-to-skin contact to breast milk volume and breastfeeding jaundice at 48 hours after delivery. J Med Assoc Thai 2016;99 (Suppl.8):s63-9.

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในครรภ์แฝดทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ในมารดาครรภ์แฝดที่คลอดปกติ หลังทารกคนแรกคลอด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อสามารถทำได้ทันที หากทารกมีความพร้อม หรือการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้ออาจทำโดยสามีหรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ที่ช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้มารดาในระหว่างการคลอดไปก่อน จนกระทั่งมารดาเบ่งคลอดทารกคนที่สองแล้ว จึงจัดให้ ทารกทั้งสองคนได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อโดยมารดาได้พร้อมกัน สำหรับมารดาที่ผ่าตัดคลอด หากมารดาได้รับยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง มารดามีสติ รู้สึกตัวดี สามารถให้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเช่นเดียวกับมารดาที่คลอดปกติ แต่หากมารดาได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกโดยยาดมสลบ อาจต้องมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจากสามีหรือสมาชิกในครอบครัวไปก่อน จนกระทั่งมารดาเริ่มมีสติ และรู้สึกตัว โดยการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในครรภ์แฝดทั้งสองคนสามารถทำได้ตั้งแต่มารดาอยู่ในห้องพักพื้นของห้องผ่าตัดได้เลย1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.