รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ?ความใกล้ชิดและการดูแลอย่างต่อเนื่องหลังคลอดในชุมชน โดยเฉพาะการเยี่ยมบ้าน หากสามารถทำได้ในสัปดาห์แรกหลังคลอดจะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหลังจากการที่มารดาออกจากโรงพยาบาล เมื่อกลับมาที่บ้าน สิ่งแวดล้อมที่บ้าน บางส่วนอาจจะสนับสนุนการให้ลูกได้กินนมแม่ แต่บางส่วนอาจเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการที่มารดาจะดูแลให้ลูกได้กินนมแม่ ซึ่งการที่บุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าไปเยี่ยมบ้านของมารดา ทราบบรรยากาศ ข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรคของมารดาที่ต้องเผชิญเมื่ออยู่ที่บ้าน จะทำให้สามารถให้คำแนะนำและให้คำปรึกษา รวมทั้งทางเลือกต่างๆ ในการดูแลทารกได้อย่างเหมาะสมกว่า มีการศึกษาเปรียบเทียบการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเจริญเติบโตของทารกที่ติดตามดูแลที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลกับที่ติดตามดูแลในศูนย์สุขภาพในชุมชน พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในการติดตามดูแลที่ศูนย์สุขภาพชุมชนมีอัตราที่สูงกว่า1 สิ่งนี้แสดงถึง ความใกล้ชิดและความเข้าใจในสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาและลดอุปสรรคที่อาจจะเข้าถึงได้มากกว่าในศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งส่งผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีกว่า
เอกสารอ้างอิง
- Yu C, Binns CW, Lee AH. Comparison of breastfeeding rates and health outcomes for infants receiving care from hospital outpatient clinic and community health centres in China. J Child Health Care 2016;20:286-93.