คลังเก็บป้ายกำกับ: การหลีกเลี่ยงและการแก้ปัญหาเต้านมคัดหลังคลอด

การหลีกเลี่ยงและการแก้ปัญหาเต้านมคัดหลังคลอด

milk expression5

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? บุคลากรทางการแพทย์สามารถจะช่วยมารดาหลีกเลี่ยงการเกิดการตึงคัดเต้านมได้ โดยการปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ การให้ทารกสัมผัสผิวกับมารดาหลังคลอดทันที การให้ทารกกินนมแม่จากเต้านมภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด การช่วยเหลือมารดาตั้งแต่ในระยะแรกเพื่อทำให้มั่นใจว่ามารดาสามารถนำทารกเข้าเต้าและให้นมลูกได้ การสอนการบีบเก็บน้ำนม การให้ทารกได้อยู่กับมารดาตลอด 24 ชั่วโมง การกระตุ้นให้ให้นมลูกบ่อยตามความต้องการของทารกทั้งกลางวันและกลางคืน (อย่างน้อย 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมง) และการไม่ให้มารดาใช้ขวดนม จุกนมเทียมหรือหัวนมหลอกกับทารกแทนการดูดนมจากเต้านม

สำหรับการลดอาการตึงคัดเต้านม มีความจำเป็นต้องให้ทารกดูดนมหรือบีบนมออก โดยการปฏิบัตินี้จะช่วยลดความอึดอัดหรือไม่สบายตัวของมารดา ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้แก่ เต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม ช่วยให้มั่นใจว่าการสร้างน้ำนมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และช่วยให้ทารกสามารถกินนมแม่ได้ บุคลากรทางการแพทย์ต้องตรวจสอบการเข้าเต้าของมารดาว่า ทารกเข้าเต้าได้ดีหรือไม่ ถ้าการเข้าเต้าไม่ดี ควรช่วยทารกให้เข้าเต้าได้ดีเพียงพอที่จะทำให้ดูดนมออกจากเต้านมได้พร้อมแนะนำมารดาว่าควรบีบนมด้วยมือด้วยตนเองก่อนการให้ทารกดูดนม เพื่อให้หัวนมและลานนมไม่ตึงและง่ายในการเข้าเต้า แต่หากการให้ทารกดูดนมอย่างเดียวยังช่วยลดการตึงคัดเต้านมไม่ดี แนะนำให้มารดาบีบน้ำนมด้วยมือออกระหว่างมื้อการให้นมทารกจนกระทั่งเต้านมลดการคัดตึง การกระตุ้นให้มารดาให้นมลูกบ่อยๆ ถ้าให้ได้นมไม่มาก กระตุ้นให้มารดาให้นมทารกบ่อยและนานตามความต้องการของทารก การบรรเทาอาการปวดหรือตึงคัดเต้านมด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่ การฝังเข็ม (acupuncture) การประคบด้วยใบกระหล่ำปลี (cabbage leaves) แช่เย็น การประคบเย็นระหว่างมื้อการให้นมทารก การให้ออกซิโตซินฉีดใต้ผิวหนัง และการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงน่าจะช่วยลดอาการปวดจากการตึงคัดเต้านมได้ แต่ข้อมูลจากการศึกษายังไม่สามารถสรุปได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบต่อไป1,2 สำหรับการปฏิบัติตัวที่ช่วยให้มารดาผ่อนคลาย ทำได้โดยการอาบน้ำอุ่น การนวดหลังหรือต้นคอที่ทำให้มารดาผ่อนคลายอาจช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น ในมารดาที่มีเต้านมใหญ่ขึ้นมากอาจต้องการการพยุงเต้านมเพื่อช่วยให้สบายขึ้น นอกจากนี้ ควรจัดบรรยากาศที่เอื้อในสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยสร้างความมั่นใจให้กับมารดาว่าการตึงคัดเต้านมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่น่ากังวล และจะค่อยๆ หายไป

หนังสืออ้างอิง

  1. Mangesi L, Dowswell T. Treatments for breast engorgement during lactation. Cochrane Database Syst Rev 2010:CD006946.
  2. Chapman DJ. Evaluating the evidence: is there an effective treatment for breast engorgement? J Hum Lact 2011;27:82-3.