คลังเก็บป้ายกำกับ: การประเมินการให้นมลูกด้วยคะแนนการเข้าเต้า

การประเมินการให้นมลูกด้วย Infant breastfeeding assessment tool

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การประเมินการให้นมลูกด้วย Infant breastfeeding assessment tool เกณฑ์นี้ใช้ตัวแปรในการประเมิน 4 ตัวแปรคือ ความพร้อมในการรับนม การเขี่ยให้อ้าปากกว้าง การอมคาบหัวนมและลานนม และรูปแบบการดูดนม โดยคะแนนเต็มของเกณฑ์นี้คือ 12 คะแนน ข้อมูลจากการประเมินทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากทารก ผู้ประเมินสามารถทำการประเมินโดยพยาบาลหรือมารดา การแปลผล หากคะแนนการประเมินเท่ากับ 10-12 แสดงว่าการให้นมมีประสิทธิภาพดี คะแนนการประเมินเท่ากับ 7-9 แสดงว่าการให้นมมีประสิทธิภาพปานกลาง คะแนนการประเมินเท่ากับ 0-6 แสดงว่าการให้นมไม่มีประสิทธิภาพ

                สำหรับประสิทธิภาพของเกณฑ์นี้ มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นในการให้คะแนนระหว่างบุคคล (inter-rater correlation and reliability) พบว่ามี 0.27-0.691 และร้อยละ 912 แต่ขาดความสามารถในการทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่อายุ 4 สัปดาห์2 คะแนนมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำนม แต่ไม่สามารถแยกทารกที่ดูดนมได้เพียงพอกับทารกที่ดูดนมได้ไม่เพียงพอ3  และยังมีความแม่นยำ (validity) ในการบ่งบอกปัญหาและความพึงพอใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ4 เกณฑ์การประเมิน Infant breastfeeding assessment tool แสดงในรูป5

เอกสารอ้างอิง

  1. Riordan JM, Koehn M. Reliability and validity testing of three breastfeeding assessment tools. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 1997;26:181-7.
  2. Matthews MK. Developing an instrument to assess infant breastfeeding behaviour in the early neonatal period. Midwifery 1988;4:154-65.
  3. Furman L, Minich NM. Evaluation of breastfeeding of very low birth weight infants: can we use the infant breastfeeding assessment tool? J Hum Lact 2006;22:175-81.
  4. Schlomer JA, Kemmerer J, Twiss JJ. Evaluating the association of two breastfeeding assessment tools with breastfeeding problems and breastfeeding satisfaction. J Hum Lact 1999;15:35-9.
  5. กุสุมา ชูศิลป์. การประเมินทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่. ใน: ศุภวิทย์ มุตตามระ, กุสุมา ชูศิลป์, อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ, วราภรณ์ แสงทวีสิน, ยุพยง แห่งเชาวนิช, บรรณาธิการ. ตำราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ ไอยรา จำกัด; 2555:163-71.

 

 

การประเมินการให้นมลูกด้วยคะแนนการเข้าเต้า

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การประเมินการให้นมลูกด้วยคะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) เกณฑ์การประเมินนี้ใช้ตัวแปรในการประเมิน 5 ตัวแปรคือ การเข้าเต้าหรือการอมหัวนมและลานนม การได้ยินเสียงกลืนน้ำนม ลักษณะของหัวนมของแม่ ความรู้สึกสบายเต้านมและหัวนม ท่าอุ้มลูกหรือการจัดท่าลูกขณะให้นม โดยคะแนนเต็มของเกณฑ์นี้คือ 10 คะแนน ข้อมูลจากการประเมินทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากมารดาและทารก ผู้ประเมินสามารถทำการประเมินโดยพยาบาลหรือมารดา การแปลผล หากคะแนนการประเมินในทารกอายู 16-24 ชั่วโมงมากกว่า 8 แสดงว่ามีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน 6 สัปดาห์หลังคลอดสูง1

สำหรับประสิทธิภาพของเกณฑ์นี้ มีการศึกษาถึงคะแนนการเข้าเต้ามีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 6 สัปดาห์และใช้ติดตามช่วยเหลือมารดาที่หยุดนมแม่ในระยะแรกจากการเจ็บเต้านม2 และมีการประเมินความสัมพันธ์ในการให้คะแนนการเข้าเต้าของบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาพบว่ามีค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ตั้งแต่ 0.18 ในการประเมินการได้ยินเสียงทารกกลืนน้ำนมถึง 0.67 ในการประเมินการเข้าเต้าหรือการอมหัวนมและลานนม3 มีการศึกษาถึงความสอดคล้องกันของคะแนนการเข้าเต้ากับการประเมินการให้นมลูกโดยวิธีอื่น ได้แก่ Mother-baby assessment และ Infant breastfeeding assessment tool พบว่าเกณฑ์การประเมินทั้งสามนี้มีความสอดคล้องกันในการประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่4

ในประเทศไทยมีความนิยมในการใช้คะแนนการเข้าเต้าในการประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่ามีความตรง (validity) เท่ากับ 0.90 และมีค่าความเที่ยง (reliability) เท่ากับ 0.955 อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของคะแนนการเข้าเต้ากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวนทั้งสิ้น 3065 ราย โดยประเมินคะแนน LATCH ในช่วงวันแรกหลังคลอดและเก็บข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในวันที่ 2, 7, 14, 45 และในเดือนที่ 2, 4 และเดือนที่ 6 หลังคลอดมาวิเคราะห์โดยจะใช้คะแนนการเข้าเต้าเพื่อการทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว พบว่า คะแนนการเข้าเต้าสามารถใช้ทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้เฉพาะในช่วงแรกหลังคลอดเท่านั้น6 เกณฑ์การประเมินคะแนนการเข้าเต้าแสดงในรูป7

เอกสารอ้างอิง

  1. Kumar SP, Mooney R, Wieser LJ, Havstad S. The LATCH scoring system and prediction of breastfeeding duration. J Hum Lact 2006;22:391-7.
  2. Riordan J, Bibb D, Miller M, Rawlins T. Predicting breastfeeding duration using the LATCH breastfeeding assessment tool. J Hum Lact 2001;17:20-3.
  3. Adams D, Hewell S. Maternal and professional assessment of breastfeeding. J Hum Lact 1997;13:279-83.
  4. Altuntas N, Turkyilmaz C, Yildiz H, et al. Validity and reliability of the infant breastfeeding assessment tool, the mother baby assessment tool, and the LATCH scoring system. Breastfeed Med 2014;9:191-5.
  5. Baiya N, Ketsuwan S, Pachaiyapoom N, Puapornpong P. Mother’s knowledge, latch score and satisfaction after development support service in HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn Medical Center. J Med Health sci 2013;20:17-23.
  6. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Hamontri S, Ketsuwan S, Wongin S. Latch score and exclusive breastfeeding during the first six months postpartum. J Med Health Sci 2016;23:8-14.
  7. กุสุมา ชูศิลป์. การประเมินทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่. ใน: ศุภวิทย์ มุตตามระ, กุสุมา ชูศิลป์, อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ, วราภรณ์ แสงทวีสิน, ยุพยง แห่งเชาวนิช, บรรณาธิการ. ตำราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ ไอยรา จำกัด; 2555:163-71.