รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
????? บางครั้งเมื่อทารกไม่ยอมกินนมแม่ มารดาอาจเข้าใจผิดคิดว่าทารกต้องการหย่านม แต่ในความจริงมีหลายปัจจัยที่ทำให้ทารกไม่ยอมกินนมแม่ โดยทั่วไป ทารกควรกินนมแม่อย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อช่วยในพัฒนาการของสมอง ร่างกาย และการเจริญเติบโตที่เหมาะสมตามวัย รวมทั้งช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันต่อต้านโรค เมื่อทารกไม่ยอมกินนมหรือหยุดกินก่อนเวลาเหมาะสม มารดาและบุคลากรทางการแพทย์ควรหาสาเหตุที่ทำให้ทารกไม่ยอมกินนมแม่ก่อน โดยไม่ควรเหมารวมว่าทารกต้องการหย่านม สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ทารกไม่ยอมกินนมแม่ ได้แก่
????? -ทารกกินนมผสม การที่ทารกกินนมผสม กลไกการกินนมผสมคือ น้ำนมจะไหลเข้าปากและคอทารกโดยทารกไม่ต้องออกแรงในการดูดหรือออกแรงน้อย ทารกไม่ต้องแลบลิ้นยื่นออกเพื่อกดลานนมเหมือนกับการกินนมแม่ ซึ่งจะทำให้ทารกได้ฝึกควบคุมการกินอาหาร แต่ในการกินนมผสมจากขวด ทารกจะกินตามที่มารดาป้อน หากไม่ระมัดระวัง ทารกจะกินนมจำนวนมากเกินไป ทำให้แหวะนม อาเจียน ทารกน้ำหนักเกินเกณฑ์ และปฏิเสธการกินนมแม่ได้
????? -ทารกไม่สบาย มีการติดเชื้อ การติดเชื้อที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจ โดยอาจทำให้ทารกมีน้ำมูก และหายใจไม่สะดวกขณะกินนม ซึ่งจะทำให้ทารกไม่ยอมกินนมได้ นอกจากนี้ การติดเชื้อในหูชั้นกลาง ซึ่งจะทำให้ทารกเจ็บในขณะดูดนม ก็ทำให้ทารกไม่ยอมดูดนมได้เช่นกัน
????? -ทารกเริ่มมีฟันขึ้น ทารกจะมีการเจ็บบริเวณเหงือก อาจทำให้ทารกไม่ค่อยยอมดูดนม หรือทารกมีการกัดหัวนมมารดา ทำให้มารดาเจ็บ และกลัวการให้นม
????? -ความเครียดในครอบครัว ส่งผลกระทบต่อมารดา และมีผลต่อทารกที่อาจจะรู้สึกถึงความตึงเครียดไปด้วย ทำให้การดูดนมไม่ดีหรือไม่ยอมดูดนม
????? -การแยกห่างจากมารดา หากทารกห่างเหินจากมารดาไประยะหนึ่งแล้ว การกลับมาให้นมในตอนแรกๆ ทารก อาจไม่ยอมดูดนมได้ อย่างไรก็ตาม การแยกห่างจากมารดาขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการที่ทารกแยกห่างจากมารดาด้วย ทารกที่แยกห่างจากมารดาตั้งแต่ในระยะแรก ยังไม่มีสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ลูกอาจรู้สึกห่างเหิน หรือขาดการจดจำหรือฝังใจกับมารดา ผลกระทบจะมีมากกว่า ซึ่งความห่างเหินจะมีและส่งผลต่อการกินนมของลูกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.