คลังเก็บป้ายกำกับ: การตื่นตัวเรื่องกฎหมายและข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การตื่นตัวเรื่องกฎหมายและข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กฎหมายที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยมีอยู่หลายฉบับ แต่บางครั้งชื่อก็ไม่สื่อและการบังคับใช้ไม่เข้มงวด การตื่นตัวในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังมีน้อย ยกตัวอย่าง ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการให้ลาพักหลังคลอด ก็ยังมีความเข้าใจจากชื่อเป็นหลักว่า ให้ลาพักหลังการคลอดบุตร ซึ่งทำให้เข้าใจไปว่าหากพักฟื้นจนแข็งแรงดี อาจกลับมาทำงานได้ก่อนระยะเวลาที่ลาพักหลังคลอด ทั้งที่ความจริงกฏหมายนี้ให้ลาพักหลังคลอด การฟักฟื้นร่างกายจากการคลอดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น บทบาทอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลาพักหลังคลอดคือการสนับสนุนให้ลูกมีโอกาสได้กินนมแม่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการลาพักหลังคลอดของข้าราชการสามารถลาพักได้สามเดือนโดยได้รับเงินเดือน ขณะที่ในหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนามและพม่า ให้ลาพักหลังคลอดหกเดือน ซึ่งเป็นถือเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน นอกจากนี้ ยังมีกฏหมายเกี่ยวข้องกับการตลาดของนมผงที่หลายภาคส่วนในสังคมอาจยังไม่เข้าใจถึงเนื้อหาและความจำเป็นที่ต้องออกเรื่องการตลาดของนมผงมาเป็นกฎหมาย มีการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการตื่นตัวเรื่องกฎหมายและข้อบัญญัติเกี่ยวกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกาก็พบเช่นเดียวกันคือมีความตื่นตัวต่ำ1 ดังนั้น การรณรงค์ให้คนในสังคมเข้าใจถึงเจตจำนงของกฎหมายที่ออกมานั้นจึงมีความสำคัญทั้งในแง่ของการทำให้ประชาชนเต็มใจปฏิบัติและในแง่ที่จะให้ความเข้มงวดในเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งจะให้ผลดีต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เต็มที่อย่างที่เจตจำนงของกฎหมายได้ตั้งใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson AK, Johnson E, Motoyasu N, Bignell WE. Awareness of Breastfeeding Laws and Provisions of Students and Employees of Institutions of Higher Learning in Georgia. J Hum Lact 2019;35:323-39.