
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การตัดสินใจให้ลูกกินนมแม่หรือให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้นมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประสบการณ์ในอดีตที่ได้เห็น ช่วย หรือได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความล้มเหลวหรือความยากลำบากในการให้ลูกกินนมแม่ในครรภ์ก่อน คำบอกเล่าของผู้ใหญ่หรือสามีที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมารดา ความรู้ของมารดาเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ วัฒนธรรมและค่านิยมของคนในสังคมยังมีผลต่อการตัดสินใจในการให้ลูกกินนมแม่ของมารดาด้วย ซึ่งหากมารดาได้ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ก็นับเป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนและเพิ่มโอกาสที่มารดาจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการตัดสินใจให้ลูกกินนมแม่นับเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากและเป็นตัวทำนายลักษณะการให้อาหารแก่ทารกแรกเกิด1
เอกสารอ้างอิง
- Henderson J, Redshaw M. Midwifery factors associated with successful breastfeeding. Child Care Health Dev 2011;37:744-53.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การที่มารดาคนหนึ่งจะตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง โดยปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของมารดาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า ประเด็นสำคัญในการตัดสินใจว่าจะให้ลูกกินนมแม่หรือเลี้ยงลูกด้วยนมผงก็คือ ความคาดหวังของสังคมและความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ดังนั้น เมื่อทราบข้อมูลนี้ บุคลากรทางการแพทย์จะต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้กับมารดา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรู้ และทักษะการปฏิบัติ ร่วมกับเปิดช่องทางที่สะดวกที่จะให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังต้องช่วยกันสร้างค่านิยมทางสังคมที่เหมาะสมในการให้ลูกกินนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Wennberg AL, Jonsson S, Zadik Janke J, Hornsten A. Online Perceptions of Mothers About Breastfeeding and Introducing Formula: Qualitative Study. JMIR Public Health Surveill 2017;3:e88.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)