คลังเก็บป้ายกำกับ: การกินนมแม่ช่วยป้องกันการหยุดหายใจขณะหลับได้

การกินนมแม่ช่วยป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลาง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การให้ทารกได้กินนมแม่จะช่วยลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ กลไกในการป้องกันอธิบายจากกระบวนการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยในการพัฒนาของกรามทารกพร้อมกับระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ กล้ามเนื้อลิ้นและกล้ามเนื้อของ Eustachian tube การพัฒนาการของระบบเหล่านี้จะช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อของระบบหู ช่วยในการพูดที่ชัดเจน และช่วยลดฟันผุและความเสี่ยงของการเกิดปัญหาของระบบเหงือกและฟัน1,2 มีผลจากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบในวัยเด็กช่วงแรกได้ร้อยละ 40-503 ซึ่งระยะเวลาและรูปแบบของการกินนมแม่มีความสำคัญ โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานกว่าหกเดือนจะช่วยลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบในช่วงหกปีแรกของการเจริญเติบโต และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีผลป้องกันการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ดีกว่าการให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมอย่างอื่นในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอด4

เอกสารอ้างอิง

  1. Abrahams SW, Labbok MH. Breastfeeding and otitis media: a review of recent evidence. Curr Allergy Asthma Rep 2011;11:508-12.
  2. Vogazianos E, Vogazianos P, Fiala J, Janecek D, Slapak I. The effect of breastfeeding and its duration on acute otitis media in children in Brno, Czech Republic. Cent Eur J Public Health 2007;15:143-6.
  3. Brennan-Jones CG, Eikelboom RH, Jacques A, et al. Protective benefit of predominant breastfeeding against otitis media may be limited to early childhood: results from a prospective birth cohort study. Clin Otolaryngol 2017;42:29-37.
  4. Korvel-Hanquist A, Djurhuus BD, Homoe P. The Effect of Breastfeeding on Childhood Otitis Media. Curr Allergy Asthma Rep 2017;17:45.

 

การกินนมแม่ช่วยป้องกันการหยุดหายใจขณะหลับได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายอย่าง รวมทั้งการเกิดความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ยังทำให้บุคคลที่มีการหยุดหายใจขณะหลับมีอาการอ่อนเพลีย ขาดสมาธิ และทำงานขาดประสิทธิภาพ ซึ่งการอุบัติการณ์ของการเกิดการหยุดหายใจขณะหลับนั้นพบเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมาก และในกลุ่มที่มีดัชนีมวลกายสูงหรือมีภาวะอ้วน มีการศึกษาว่า การให้ทารกได้กินนมแม่จะช่วยให้การพัฒนาการของช่องเพดานปากและช่องทางเดินหายใจในจมูกเจริญเติบโตมีระยะห่างที่ปกติ ทำให้มีผลในการป้องกันการเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจะแตกต่างจากทารกที่กินนมจากขวด การพัฒนาการของช่องเพดานปากและทางเดินหายใจในจมูกจะลดลง ทำให้ทารกหายใจทางช่องปาก และมีโอกาสที่จะพบการหยุดหายใจขณะหลับสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบทารกที่กินนมขวดมีช่องคอหอยแคบกว่า ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดการหยุดหายใจขณะหลับเมื่อทารกเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Vinha PP, de Mello-Filho FV. Evidence of a Preventive Effect of Breastfeeding on Obstructive Sleep Apnea in Children and Adults. J Hum Lact 2017;33:448-53.