รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ? ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้ความสนใจกับทารกแรกเกิดที่ป่วยหรือต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดที่หอทารกแรกเกิดวิกฤต (newborn intensive care unit หรือ NICU) เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นในการดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เกิดมากขึ้นในการดูแลทารกแรกเกิด โดยเฉพาะภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่จะใช้ติดตามการดำเนินงาน เพื่อการประเมินและพัฒนากระบวนการหรือรูปแบบการให้บริการรวมทั้งเพื่อสร้างมาตรฐานในการเป็นหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤตที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาการใช้กลุ่มของตัวชี้วัดจากการบริหารจัดการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของหอทารกแรกเกิดวิกฤต ตัวชี้วัดจากพฤติกรรมของทารกในการกินนมแม่ที่หอทารกแรกเกิดวิกฤต และการเตรียมความพร้อมและทักษะของมารดาในการให้นมแม่แก่ทารกที่หอทารกแรกเกิดวิกฤต1 นำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หอทารกแรกเกิดวิกฤต นอกจากความพร้อมและความตั้งใจของมารดาและครอบครัวแล้ว การให้การสนับสนุนห้องให้นมแม่ในบริเวณหอทารกแรกเกิดวิกฤต การสนับสนุนในเรื่องที่พักให้มารดาสามารถอยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมง และการมีทีมงานที่มีทักษะที่จะช่วยเหลือมารดาให้สามารถให้นมแม่แก่ทารกได้มีความจำเป็น ซึ่งสิ่งเหล่าต้องการการเห็นความสำคัญของผู้บริหารที่จะจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งพัฒนาทีมบุคลากรให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมและมีจำนวนพอเพียงในการช่วยเหลือมารดา ติดตามและดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในความสำเร็จในการให้ลูกได้กินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
- Yu X, Sun H, Lin X, Liu X. Breastfeeding Evaluation Indicators System is a Promising Evaluation Tool for Preterm Infants in Neonatal Intensive Care Units (NICU). Med Sci Monit 2016;22:4009-16.