การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายโดยการสังเกตมองดูที่หัวนมและเต้านมอาจช่วยบอกสาเหตุของการเจ็บหัวนมได้ หากพบผิวหนังเป็นสีน้ำตาล มีหัวนมแตกเป็นแผล หรือเป็นถุงน้ำใส (milk blebs) หรือเป็นถุงน้ำที่มีสีขาวขุ่นจากการที่มีน้ำนมขังอยู่ด้านใน (milk blisters)  สาเหตุมักเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม แต่หากผิวหนังสีแดงหรือชมพู เป็นมัน คัน และผิวหนังลอก (ทำให้ไม่พบว่ามีการเข้มขึ้นของผิวหนัง) สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อรา Candida albicans  สำหรับในกรณีที่มารดามีการเจ็บหัวนมหลังจากทารกกินนมและคายหัวนมออก มารดาอาจมีประวัติมีอาการเจ็บหัวนมหลังการอาบน้ำ หรือเมื่อมีอากาศเย็น โดยอาจพบร่วมกับการมีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (lupus erythematosus) โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) โรคหนังแข็ง (scleroderma) และตรวจพบหัวนมมารดามีสีซีดขณะที่มีอาการเจ็บหัวนมที่เกิดขึ้นหลังจากทารกคายหัวนม สาเหตุจะเกิดจาก Raynaud’s phenomenon ซึ่งเกิดจากการหดตัวของเส้นเลือดที่หัวนม ทำให้เกิดการเจ็บหัวนมจากการขาดเลือด อย่างไรก็ตาม ในการให้การวินิจฉัยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรต้องระลึกไว้เสมอว่า การบาดเจ็บของเต้านมจากการเข้าเต้าที่ไม่ดีและสาเหตุอื่นที่ทำให้มารดามีอาการเจ็บหัวนมสามารถเกิดร่วมกันได้ นอกจากนี้ อาการผิดปกติของผิวหนังบริเวณหัวนมสามารถมีความผิดปกติที่คล้ายคลึงกับผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ หัวนมและเต้านมอาจจะเกิดคัน แสบ มีตุ่มน้ำ และการอักเสบตามแนวของเส้นประสาทที่เกิดจากงูสวัด (Herpes zoster)  ผิวหนังอักเสบ (eczema) ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้ (allergic dermatitis) หรือความผิดปกติของผิวหนังอื่น ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บหัวนมได้เช่นกัน

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูก โดยจากการซักประวัติเมื่อสอบถามมารดาว่าลักษณะของการเจ็บหัวนมของมารดาเป็นอย่างไร หากมารดาเจ็บตอนเริ่มให้นมและค่อย ๆ น้อยลงเมื่อทารกกินนมได้ หรือเมื่อเปลี่ยนท่าให้นมแล้วดีขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการอ้าปากอมหัวนมและลานนมหรือการเข้าเต้าของทารก แต่หากมารดาเจ็บขณะตอนทารกดูดนมและอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นสุดการให้นม โดยที่ลักษณะของอาการเจ็บหัวนมที่มารดาบ่งบอกเป็นอาการแสบร้อนหรือปวดจี๊ด สาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อรา Candida albicans มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่เป็นตัวทำนายการเจ็บหัวนมของมารดา ได้แก่ การมีการบาดเจ็บที่หัวนมและการตรวจพบเชื้อราที่เต้านมมารดา ที่ทารกหรือในน้ำนมโดยจะมีค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์เท่ากับ 1.87 (95%CI 1.10-3.16) และ 2.30 (95%CI 1.19-4.43) ตามลำดับ2

เอกสารอ้างอิง

2.         Amir LH, Donath SM, Garland SM, et al. Does Candida and/or Staphylococcus play a role in nipple and breast pain in lactation? A cohort study in Melbourne, Australia. BMJ Open 2013;3.

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูก

การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจหาสาเหตุของการเจ็บหัวนม ดังนั้น “แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรตรวจสังเกตมารดาขณะให้นมลูกเสมอก่อนที่จะให้การวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บหัวนม” โดยการสังเกตมารดาให้นมลูกจะทำเพื่อประเมินว่ามารดาให้ทารกอมหัวนมและลานนมหรือทำการเข้าเต้า และให้ทารกดูดกินนมอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการเจ็บหัวนมของมารดา ได้แก่ การจัดท่าให้นมลูกไม่เหมาะสม โดยการตรวจสังเกตการให้นมควรทำการสังเกตจนสิ้นสุดการให้นมโดยใช้แบบสังเกตการให้นมลูก (Breastfeed Observation Aid) ตรวจสอบวิธีการเข้าเต้าของทารก การอ้าปากอมหัวนมและลานนมและการดูดกลืนนม สังเกตว่ามารดาหยุดให้นมทารกหรือทารกหยุดกินนมด้วยตนเอง และสังเกตลักษณะหัวนมว่าเป็นอย่างไรหลังจากสิ้นสุดการให้นม โดยหัวนมดูผิดรูปผิดร่างหรือถูกบีบ แดงหรือมีสีขาวเป็นเส้นหรือไม่

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายของทารก

การตรวจร่างกายพื้นฐาน ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และอาการแสดงชีพ

การตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบ

การตรวจร่างกายที่จำเพาะ ได้แก่ การตรวจริมฝีปาก ปาก และในช่องปากทารก ดูปากแหว่งเพดานโหว่ ดูว่าทารกมีเพดานปากที่สูงหรือไม่ ดูภาวะลิ้นติดและตรวจวัดประเมินความรุนแรงของภาวะลิ้นติด ตรวจดูลิ้นทารกว่ามีฝ้าขาวหรือไม่ ทารกมีลิ้นที่ใหญ่คับปากหรือไม่ ตรวจดูว่ากล้ามเนื้อในช่องปากทารกทำงานปกติหรือมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหรือไม่ รวมทั้งตรวจว่าทารกมีคอเอียงที่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้ทารกเข้าเต้าได้ไม่เหมาะสมและทำให้เจ็บหัวนมได้

การตรวจร่างกายการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายมารดา

การตรวจร่างกายพื้นฐาน ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และอาการแสดงชีพ

การตรวจร่างกายทั่วไปทุกระบบ

การตรวจร่างกายที่จำเพาะ ได้แก่ การตรวจเต้านม เริ่มต้นด้วยการดูลักษณะ รูปร่าง และพัฒนาการของหัวนม ลานนม และเต้านม การดูสีของหัวนมว่าปกติ เป็นสีแดงอมชมพู เป็นมัน หรือมีสีซีด การมีตุ่มน้ำหรือไขเป็นจุดขาวที่หัวนม การมีหัวนมแตก เป็นสะเก็ด มีน้ำเหลืองหรือหนอง การมีหัวนมบอด สั้น หรือหัวนมใหญ่ การตรวจวัดความยาวหัวนม การดูผิวหนังบริเวณเต้านมว่า มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ หรือแผลที่ต่อเนื่องมาจากหัวนมหรือไม่ การตรวจคลำบริเวณลานนมและเต้านมที่ครบถ้วนอย่างเป็นระบบ มีบริเวณที่บวม ร้อน กดเจ็บ หรือคลำได้ก้อนหรือไม่ และลักษณะ ขอบเขต และความนุ่มแข็งของก้อนเป็นอย่างไร ควรมีการบันทึกลักษณะของหัวนม ลานนม และเต้านม เพื่อประกอบการวินิจฉัย และติดตามการรักษา

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)