ความเข้าใจว่าน้ำนมแม่ไม่เพียงพอยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในมารดาที่มีความสนใจและตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ความวิตกกังวลที่ทำให้มารดาไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนส่วนใหญ่มักเกิดจากความเข้าใจว่านมแม่มีไม่เพียงพอ1 ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าน้ำนมของตนเองไม่เพียงพอเป็นความเข้าใจที่ผิด อาจเป็นจากการที่มารดาปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนมได้น้อย หรือ ทารกที่กินนมแม่ในช่วงใดช่วงหนึ่ง หากทารกร้องกวนบ่อย ๆ มารดาอาจคิดไปก่อนว่าน้ำนมตนเองไม่เพียงพอ และให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพิ่มเติมไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น การที่มารดาพอจะประเมินว่าทารกได้นมเพียงพอได้ด้วยตนเอง หรือการที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถบ่งบอกถึงความเพียงพอของน้ำนมและอธิบายให้มารดาเข้าใจและมั่นใจ จึงเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และอาจช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนระยะเวลาหกเดือนได้

??????????? สำหรับการสังเกตว่าน้ำนมมารดาเพียงพอเบื้องต้น อาจทำได้โดย การสังเกตว่า หากทารกดูดนมจากเต้านมด้านหนึ่ง จะมีน้ำนมจากเต้านมอีกข้างไหล หรือหากบีบน้ำนมด้วยมือแล้วน้ำนมไหลได้ดีหรือพุ่ง หรือจะดูจากทารกปัสสาวะราว 6 ครั้งต่อวันสีเหลืองใสไม่เข้ม และอุจจาระราว 2 ครั้งต่อวัน หรืออาจสังเกตจากหลังจากทารกดูดนมไปแล้วหลับไปนานพอควรคือ 2-3 ชั่วโมง (แต่อย่างไรก็ตาม ทารกอาจมีการร้องกินนมตลอดหรือบ่อยกว่าปกติได้ในช่วงที่ทารกมีการยืดตัว ซึ่งจะเกิดเมื่อทารกอายุใกล้ครบหนึ่งเดือน สองเดือนหรือสามเดือน และการที่ทารกร้องกวนบ่อย ก่อนอื่นต้องตรวจสอบว่าทารกมีอาการใดที่ผิดปกติหรือไม่สบายตัวจากสาเหตุใด ๆ ก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะสรุปว่าทารกหิวนมหรือกินนมไม่พอ) นอกจากนี้ การประเมินว่าทารกน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าการกินนมของทารกเพียงพอ โดยดูเทียบกับกราฟติดตามการเจริญเติบโตของทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Nguyen PTK, Tran HT, Thai TTT, Foster K, Roberts CL, Marais BJ. Factors associated with breastfeeding intent among mothers of newborn babies in Da Nang, Viet Nam. Int Breastfeed J 2018;13:2.

 

เครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น บุคลากรทางการแพทย์จะเป็นเหมือนผู้นำที่ชักจูงและชี้ให้มารดาและครอบครัวรวมทั้งคนในสังคมตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญของนมแม่ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งแรกที่จะบ่งบอกและส่งผลต่อความตั้งใจและการตัดสินใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ ขณะที่มารดาคลอดบุตร เมื่อคลอดบุตรในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว มารดาจะได้โอกาสที่จะเรียนรู้และรับรู้ถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่จะส่งเสริม สนับสนุน และทำให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยตัวชี้วัดแรกที่สุดก็คือ การที่มารดาได้เริ่มให้นมลูกในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ตัวชี้วัดเหล่านี้จะได้รับการติดตามในระบบโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อมาเมื่อมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะขึ้นอยู่กับมารดาและครอบครัวแล้ว ระบบการติดตามและเครือข่ายที่จะช่วยดูแล แก้ไขปัญหา และให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมมีความสำคัญอย่างมาก1 และจะส่งผลต่อตัวชี้วัดถัดไป คือ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน ซึ่งตัวเลขนี้ในประเทศไทยยังคงมีอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือร้อยละ 50 ดังนั้น นอกจากจะสนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลมีนโยบายที่เอื้อต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การพัฒนาเครือข่ายที่จะทำให้การเข้าถึงการแก้ไขปัญหาของมารดาและครอบครัวเป็นสิ่งที่ควรนำมาคิด วางแผน และพัฒนาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งที่จะเอื้อให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ

เอกสารอ้างอิง

  1. Okafor AE, Agwu PC, Okoye UO, Uche OA, Oyeoku EK. Factors Associated with Exclusive Breastfeeding Practice among Nursing Mothers in rural areas of Enugu State and its Implications for Social Work Practice in Nigeria. Soc Work Public Health 2018;33:140-8.

 

ระบบพี่เลี้ยงนมแม่ช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระบบพี่เลี้ยงที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีการจัดให้กับมารดาแต่ละคนมีประโยชน์และช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควร มีการศึกษาเกี่ยวกับการจัดระบบพื่เลี้ยงที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ระบบพี่เลี้ยงช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหนึ่งเดือนแรกได้ถึงร้อยละ 55 และช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงเดือนที่สองถึงเดือนที่สิบสองได้ถึงร้อยละ 671 อย่างไรก็ตาม การจัดระบบพี่เลี้ยงที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้จะมีหลักฐานว่ามีประโยชน์ แต่ยังมีข้อจำกัดในการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยในการแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพียงพอ ระบบงบประมาณที่จะสนับสนุนให้เกิดการจัดระบบพี่เลี้ยงที่มีความครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาพี่เลี้ยงให้มีความรู้ความสามารถที่ทันสมัย มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การสร้างระบบพี่เลี้ยงที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงจำเป็นต้องมองให้เห็นถึง การสร้างระบบที่จะช่วยสร้าง พัฒนา และธำรงรักษาบุคลากรที่อยู่ในสาขาวิชาชีพนี้ให้คงอยู่ได้ มีความมั่นคงในวิชาชีพในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความยั่งยืนของระบบที่จะเอื้อต่อการพัฒนาตามพื้นฐานของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

เอกสารอ้างอิง

  1. McCoy MB, Geppert J, Dech L, Richardson M. Associations Between Peer Counseling and Breastfeeding Initiation and Duration: An Analysis of Minnesota Participants in the Special Supplemental Nutrition Program for Women, Infants, and Children (WIC). Matern Child Health J 2018;22:71-81.

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการที่มารดาจะมีความตั้งใจในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น การเข้าใจ ตระหนักถึงประโยชน์ และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งการที่จะเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สิ่งที่พื้นฐานนั้นก็คือ การศึกษาของมารดา โดยระดับการศึกษาของมารดามีผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์นี้ก็มาจาก การที่มารดามีระดับการศึกษาที่สูงกว่า การหาข้อมูลหรือความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ จะมีโอกาสที่สูงกว่า มีผลทำให้การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนมแม่มีมากกว่า อันจะส่งผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาสูงกว่า ดังนั้น การมองเห็นปัญหาเรื่องอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังต่ำ ?อาจต้องมองในมุมที่กว้าง โดยการแก้ปัญหาจำเป็นต้องมองถึงพื้นฐานการศึกษาของมารดาที่ยังคงเป็นปัญหาที่เป็นพื้นฐานของปัญหาต่าง ๆ หลายอย่าง ได้แก่ ปัญหาเรื่องอาชีพ รายได้ รวมถึงปัญหาความยากจนที่การแก้ปัญหาจำเป็นต้องพัฒนาและแก้ปัญหาเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Nguyen PTK, Tran HT, Thai TTT, Foster K, Roberts CL, Marais BJ. Factors associated with breastfeeding intent among mothers of newborn babies in Da Nang, Viet Nam. Int Breastfeed J 2018;13:2.

ควรทำอย่างไร เมื่อมีการรายงานการตรวจพบโลหะหนักในน้ำนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? น้ำนมแม่มีประโยชน์มากมายในหลาย ๆ ด้าน แต่อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงสารพิษประเภทโลหะหนักที่ตรวจพบในน้ำนมแม่ ซึ่งมีการตรวจพบสารปรอทร้อยละ 100 และสารตะกั่วร้อยละ 71 ในนมแม่ในประเทศเกาหลี1 โดยแม้ว่าระดับที่ตรวจพบส่วนใหญ่ยังอยู่ในค่าที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับมารดาและทารก แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนถึงการสัมผัสและการได้รับสารพิษประเภทโลหะหนักที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ โดยวิธีการที่ได้รับมารดาอาจได้รับมาจากการสูดดมอากาศที่ไม่บริสุทธ์มีควันพิษที่มีส่วนผสมของโลหะตะกั่วที่ได้มาจากอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ หรือการที่ได้รับสารปรอทจากการรับประทานอาหารจากปลาหรือสัตว์ที่ได้รับสารปรอทมาจากการทิ้งน้ำเสียที่มีสารปรอทลงในแม่น้ำลำคลองหรือลงในทะเล นโยบายในการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของแต่ละประเทศและของโลกคงต้องร่วมมือกันรณรงค์ ปกป้อง และดูแลมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้มีคุณภาพที่ดีและลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษ สำหรับตัวมารดาเอง การให้นมแม่แก่ลูกก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยังเป็นประโยชน์อย่างที่สุด เพราะแม้ว่าการที่จะเลือกเปลี่ยนไปให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่ได้รับสารพิษจากโลหะหนักในเมื่อมีภาวะของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ สัตว์ที่ให้นมก็จะได้รับสารพิษหรือโลหะหนักไปเช่นกัน ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าคือ การเลือกที่อยู่อาศัยที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์ คุณภาพน้ำที่สะอาด และเลือกรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อน น่าจะเป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติ

เอกสารอ้างอิง

  1. Park Y, Lee A, Choi K, et al. Exposure to lead and mercury through breastfeeding during the first month of life: A CHECK cohort study. Sci Total Environ 2018;612:876-83.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)