การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 8

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

สำหรับการคิดค่าบริการที่คลินิกนมแม่ มีการกำหนดค่าบริการตามรายการที่ให้บริการโดยอิงเทียบเคียงราคาค่าบริการกับการบริการที่ใกล้เคียงกันตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง โดยมีรายละเอียดการคิดค่าบริการตามตารางที่ 3

ตารางที่ 3 รายการการให้การรักษาพยาบาลและราคาค่าบริการที่คลินิกนมแม่

รายการการให้การรักษาพยาบาล ราคาค่าบริการ(บาท)
การให้คำปรึกษาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 100
การให้บริการเครื่องปั๊มนม 100
การนวดและประคบเต้านม 250
การนวดเต้านม 200
การรักษาท่อน้ำนมอุดตัน 100
การทำแผลฝีที่เต้านม 100

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 7

ภาวิน พัวพรพงษ์ฺ, นงเยาว์ ลาวิณห์

สำหรับผลการคำนวณภาระงานการพยาบาลพบว่า ภาระงานพยาบาลโดยรวม 0.86-0.97 ชั่วโมงต่อผู้ป่วย อัตรากำลัง และผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่แสดงรายละเอียดดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ภาระงานและผลิตภาพการพยาบาลของคลินิกนมแม่

ตัวแปร ปี 2558 ปี 2559
ภาระงานการพยาบาลโดยตรง (ชั่วโมงต่อผู้ป่วย) 0.70 0.60
ภาระงานการพยาบาลโดยอ้อม (ชั่วโมงต่อผู้ป่วย) 0.27 0.26
ภาระงานการพยาบาลรวม (ชั่วโมงต่อผู้ป่วย) 0.97 0.86
ผลิตภาพทางการพยาบาล (ร้อยละของ FTE) 279.76 230.90
จำนวนบุคลากรที่ต้องการรวม (คน) 4.74 3.93
-จำนวนพยาบาลที่ต้องการ (คน) 2.84 2.36
-จำนวนผู้ช่วยพยาบาลที่ต้องการ (คน) 1.90 1.57

หมายเหตุ FTE หมายถึง 1 หน่วยของพยาบาลที่ทำงานเต็มเวลา (fulltime equivalence)

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 6

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

ตัวอย่างผลการพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลคลินิกนมแม่

            จากการเก็บข้อมูลการให้บริการของคลินิกนมแม่ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2558 และ 2559 โดยมีบุคลากรที่รับผิดชอบ ได้แก่ พยาบาล 1 คน และผู้ช่วยพยาบาล 2 คน ในด้านการให้บริการ ส่วนใหญ่คลินิกนมแม่จะให้บริการในส่วนผู้รับบริการที่นัดร้อยละ 42.5-44.1 และให้บริการโทรศัพท์ติดตามสอบถามมารดาหลังคลอดร้อยละ 45.6-46.5 โดยประเภทผู้ป่วยที่ให้บริการที่คลินิกนมแม่ส่วนใหญ่เป็นประเภทที่ 1 ร้อยละ 48.4-58.9 รายละเอียดของข้อมูลพื้นฐานของผู้รับบริการที่คลินิกนมแม่แสดงดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลพื้นฐานของผู้รับบริการที่คลินิกนมแม่

ข้อมูลพื้นฐาน ปี 2558 ปี 2559
จำนวนผู้รับบริการทั้งหมด (ราย) 6532 5783
-จำนวนผู้รับบริการที่มาตามนัด n(%) 2776 (42.5) 2550 (44.1)
-จำนวนผู้รับบริการที่มารับคำปรึกษาและที่หอผู้ป่วย n(%)  779 (11.9) 544 (9.4)
-จำนวนการโทรศัพท์ติดตามเยี่ยมผู้รับบริการ n(%) 2977 (45.6) 2689 (46.5)
ประเภทผู้ป่วย n(%)    
-ประเภทที่ 1 3159 (48.4) 3405 (58.9)
-ประเภทที่ 2 1094 (16.7) 514 (8.9)
-ประเภทที่ 3 1092 (16.7) 896 (15.5)
-ประเภทที่ 4 1140 (17.5) 936 (16.2)
-ประเภทที่ 5 47 (0.7) 32 (0.5)

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 5

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

ผลิตภาพทางการพยาบาล หมายถึง ร้อยละของภาระงานที่พยาบาลต้องรับผิดชอบในการทำงานเทียบกับข้อกำหนดภาระงานมาตรฐานของการทำงานของพยาบาลหนึ่งคน ซึ่งผลิตภาพทางการพยาบาลของหน่วยงานหนึ่ง ในโรงพยาบาลจะแสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงานของพยาบาลในหน่วยงานนั้น และยังสามารถช่วยในการจัดสรรอัตรากำลังของพยาบาลให้เหมาะสมกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ

การคำนวณภาระงานการพยาบาล อัตรากำลังและการคิดผลิตภาพทางการพยาบาล

การคำนวณการภาระงานการพยาบาลโดยตรง จะคิดจากผลรวมของจำนวนผู้รับบริการในแต่ละประเภทคูณด้วยจำนวนชั่วโมงของการให้การพยาบาลในประเภทนั้น หารด้วย 7 และหารด้วยจำนวนผู้รับบริการในแต่ละวัน

การคำนวณการภาระงานการพยาบาลโดยอ้อม จะคิดจากผลรวมของภาระงานการพยาบาลโดยอ้อมทั้งหมดหารด้วย 60 และหารด้วยจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด

การคิดอัตรากำลังพยาบาล จะเทียบจากพยาบาล 1 คนทำงานเต็มเวลาเท่ากับ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (fulltime equivalence หรือ FTE)

สัดส่วนของภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาล  จะแบ่งสัดส่วนเป็นของพยาบาลร้อยละ 60 และเป็นของผู้ช่วยพยาบาลร้อยละ 40

การคิดผลิตภาพทางการพยาบาล จะคิดจากจำนวนชั่วโมงที่ต้องการคูณด้วย 100 หารด้วยจำนวนชั่วโมงที่ปฏิบัติงานจริง

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 4

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

การกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการพยาบาลโดยอ้อม ทำโดยการเก็บระยะเวลาการทำงานที่เหมือนกันของทุกหน่วยงานมาหาค่าเฉลี่ย ตั้งค่าและกำหนดเป็นมาตรฐานที่ทุกหน่วยงานยอมรับและใช้เป็นค่าเดียวกันในการคิดภาระงาน ตัวอย่าง ได้แก่ การให้ข้อมูลหรือตอบข้อติดต่อสอบถามผู้รับบริการใช้เวลา 2 นาทีต่อราย การค้นหาข้อมูลผู้ป่วยใช้เวลา 2 นาทีต่อราย การลงทะเบียนเข้าคอมพิวเตอร์ใช้เวลา 2 นาทีต่อราย การเตรียมเอกสารสำหรับการตรวจรักษาใช้เวลา 2 นาทีต่อราย การลงวินิจฉัยโรคและส่งต่อการรักษาใช้เวลา 2 นาทีต่อราย การสรุปรายงานสถิติใช้เวลา 2 นาทีต่อราย การเก็บแฟ้มเวชระเบียนส่งคืนแผนกเวชระเบียนใช้เวลา 2 นาทีต่อราย ส่งข้อมูลมารดาและทารกระหว่างหน่วยงานใช้เวลา 5 นาทีต่อราย โทรศัพท์ติดตามมารดาหลังคลอดใช้เวลา 5 นาทีต่อราย การเตรียมผ้าสำหรับประคบเต้านมใช้เวลา 30 นาทีต่อราย การทำความสะอาดและเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับอุ่นลูกประคบ อุปกรณ์ในการปั๊มนม และอุปกรณ์สำหรับการช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใช้เวลา 20 นาทีต่อราย การประสานงานรับและส่งผู้ป่วยใช้เวลา 5 นาทีต่อราย การเบิกและส่งซ่อมพัสดุใช้เวลา 2 นาทีต่อราย สำหรับการเข้าร่วมประชุมวิชาการ การจัดทำกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพ การเป็นวิทยากร และการทำงานวิจัยลงระยะเวลาตามการปฏิบัติจริง

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)