รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีผลดีต่อการสูบบุหรี่ของครอบครัวโดยลดการสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวลดได้ แต่ในทางกลับกัน การสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า หากสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่มากกว่าสองคนขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงที่มารดาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรราวร้อยละ 30 1 ดังนั้น การให้คำปรึกษาแก่มารดาควรครอบคลุมถึงบุคคลที่อยู่ในครอบครัวที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย เพื่อให้มารดาและคนในครอบครัวมีความเข้าใจ ได้ประโยชน์จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขณะเดียวกันก็ลดผลเสียจากการสูบบุหรี่ให้มีน้อยที่สุด
เอกสารอ้างอิง
Lok KYW, Wang MP, Chan VHS, Tarrant M. Effect of Secondary Cigarette Smoke from Household Members on Breastfeeding Duration: A Prospective Cohort Study. Breastfeed Med 2018;13:412-7.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ครรภ์แฝดถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่มีผลทำให้การตั้งครรภ์และการคลอดมีความเสี่ยงสูง เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย และโอกาสที่ต้องย้ายทารกเข้าหอทารกป่วยวิกฤตสูง ดังนั้นจึงเป็นผลให้การเริ่มการให้นมลูกทำได้ช้ากว่าทารกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และทำให้ความเสี่ยงที่จะหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรสูงกว่า มีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝดพบว่า ความยากลำบากในการให้นมลูก การขาดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมในช่วงให้นมบุตร การที่ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่า 2300 กรัม และประวัติการให้นมลูกในครรภ์ก่อนที่น้อยกว่า 12 เดือน 1 ดังนั้น ครรภ์แฝดจึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและควรให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
Mikami FCF, Francisco RPV, Rodrigues A, Hernandez WR, Zugaib M, de Lourdes Brizot M. Breastfeeding Twins: Factors Related to Weaning. J Hum Lact 2018:890334418767382.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)