รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อาชีพพยาบาล แม้จะมีความรู้เรื่องสุขภาพเป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ด้วยลักษณะของอาชีพเอง อาจพบอุปสรรคที่ขัดขวางหรือทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ด้วยความยากลำบาก มีการศึกษาพบว่า อุปสรรคของแม่ที่เป็นพยาบาลที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อกลับมาทำงาน ได้แก่ นโยบายและแนวทางในการปฏิบัติสำหรับบุคลากรที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลความยืดหยุ่นของการอนุญาตให้แม่ลาพักเพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมและความยืดหยุ่นของลักษณะของการขึ้นเวรของพยาบาล การขาดแผนกหรือหน่วยงานที่รับดูแลทารกที่เป็นบุคลากรของโรงพยาบาลระหว่างวัน 1 อย่างไรก็ตาม การที่มารดาหรือบิดานำทารกมาโรงพยาบาลเพื่อที่จะสร้างโอกาสให้ลูกได้กินนมแม่ก็เป็นกลวิธีอย่างหนึ่งที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อแม่จำเป็นต้องกลับมาทำงาน
เอกสารอ้างอิง
Riaz S, Condon L. The experiences of breastfeeding mothers returning to work as hospital nurses in Pakistan: A qualitative study. Women Birth 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผ่านการพัฒนาการของระบบประสาทและสมอง ซึ่งพบว่าทารกที่กินนมแม่มีเชาว์ปัญญา (IQ) ที่สูงกว่าเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก แต่ผลระยะยาวเมื่อเข้าสู่วัยชรายังมีการศึกษาน้อย อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาแบบสังเกตในผู้ชายที่ย่างเข้าวัยชราที่มีประวัติการกินนมแม่พบมีความสามารถในการรู้คิด (cognitive ability) สูงกว่า1 ซึ่งผลจากการศึกษานี้ แสดงแนวโน้มประโยชน์ของนมแม่ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของทารกตลอดอายุขัย ดังนั้น จึงสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า “นมแม่เป็นรากฐานของสุขภาพและชีวิต”
เอกสารอ้างอิง
Rantalainen V, Lahti J, Henriksson M, et al. Association between breastfeeding and better preserved cognitive ability in an elderly cohort of Finnish men. Psychol Med 2018;48:939-51.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่มีความพิการเมื่อมีทารกควรได้รับสิทธิและประโยชน์จากการให้ลูกได้กินนมแม่ แต่ปัจจัยที่ส่งเสริมและอุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีความพิการมีความแตกต่างจากมารดาปกติ มีการศึกษาในเรื่องนี้พบว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีความพิการ ได้แก่ อุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวกของผู้พิการ การใช้เครื่องปั๊มนม การช่วยเหลือในด้านกายภาพจากผู้อื่น และการสนับสนุนจากพี่เลี้ยงหรือบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีความพิการ ได้แก่ การขาดการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การพิจารณาว่ามารดามีความพิการและขาดสมรรถภาพ การจำกัดของการได้รับข้อมูลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความยากในการสร้างน้ำนมของมารดา และความยากในการเข้าเต้าของทารกในการกินนมแม่ 1 จะเห็นว่า การให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีความพิการยังมีข้อจำกัดในเรื่องการสนับสนุนเรื่องข้อมูลและบุคลากรที่ต้องให้คำปรึกษาและดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มารดาที่มีความพิการได้มีสิทธิและโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใกล้เคียงกับมารดาปกติ
เอกสารอ้างอิง
Powell RM, Mitra M, Smeltzer SC, et al. Breastfeeding Among Women With Physical Disabilities in the United States. J Hum Lact 2018;34:253-61.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ประโยชน์ของการกินนมแม่มีผลดีต่อทั้งมารดาและทารก โดยประโยชน์อย่างหนึ่งที่มีรายงานคือช่วยในด้านพัฒนาการทางพฤติกรรมและอารมณ์ของทารกเมื่อเจริญวัยขึ้น มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อยสามถึงสี่เดือนจะช่วยป้องกันภาวะผิดปกติทางด้านพฤติกรรมของทารกเมื่อทารกเจริญวัยเข้าสู่วัยรุ่น 1 สำหรับความผิดปกติทางพฤติกรรมที่พบว่าลดลงเมื่อทารกกินนมแม่ ได้แก่ พฤติกรรมเกเร การขาดสมาธิ พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง หรือมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมะสม อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มากพอ จะช่วยเพิ่มความชัดเจนของผลการศึกษายังมีความจำเป็น ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและวางแผนในการเก็บข้อมูล เพื่อการวิเคราะห์และหาข้อสรุปเพิ่มเติมในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
Poton WL, Soares ALG, Oliveira ERA, Goncalves H. Breastfeeding and behavior disorders among children and adolescents: a systematic review. Rev Saude Publica 2018;52:9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การรักษาฝีที่เต้านมนั้น แต่ดั้งเดิมใช้การผ่าตัดเปิดแผลและระบายน้ำหนองออกมา พร้อมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อช่วยในการรักษาร่วมกัน แต่ในปัจจุบัน มีการแนะนำการใช้การเจาะดูดหนองออกเพื่อการระบายหนองร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อในการรักษา ซึ่งมีการวิจัยพบว่า การรักษาโดยใช้การเจาะดูดหนองออกร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะได้ผลดีกว่าการผ่าตัดระบายหนองออกร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ1 เนื่องจากการใช้การเจาะดูดหนองออกจะมีการรบกวนหรือทำลายท่อน้ำนมของมารดาหลังการรักษาน้อยกว่า มารดาเจ็บปวดจากการรักษาน้อยกว่า สามารถให้การรักษาโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ขณะที่การผ่าตัดเพื่อระบายหนองอาจต้องอาการการดมยาสลบ และระยะเวลาในการฟื้นตัวหรือหายจากการรักษาสั้นกว่า ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรเลือกใช้การเจาะดูดหนองในการรักษาฝีที่เต้านมก่อนเป็นทางเลือกแรก โดยอาจเจาะดูดโดยใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการนำทางร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ ซึ่งเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้2
เอกสารอ้างอิง
Naeem M, Rahimnajjad MK, Rahimnajjad NA, Ahmed QJ, Fazel PA, Owais M. Comparison of incision and drainage against needle aspiration for the treatment of breast abscess. Am Surg 2012;78:1224-7.
Elagili F, Abdullah N, Fong L, Pei T. Aspiration of breast abscess under ultrasound guidance: outcome obtained and factors affecting success. Asian J Surg 2007;30:40-4.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)