การตรวจคัดกรอง cytomegalovirus ในทารกแรกเกิด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   การติดเชื้อ cytomegalovirus เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักเนื่องจากการติดเชื้อ cytomegalovirus ในคนทั่วไปมักไม่มีอาการหรือหากมีอาการ อาการที่มีก็มักไม่รุนแรง แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาก็คือ เชื้อ cytomegalovirus หากมารดามีการติดเชื้อ เชื้อ cytomegalovirus สามารถมีการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้ ซึ่งหากมีการติดเชื้อของทารกในระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกอาจมีตัวเหลือง ตับม้ามโต ศีรษะเล็ก น้ำหนักตัวน้อย มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง เกล็ดเลือดต่ำ และจอตาอักเสบ นอกจากนี้ การติดเชื้อยังสามารถมีการติดเชื้อจากการได้รับน้ำนมหรือการได้รับเลือด ดังนั้น การตรวจคัดกรองว่าทารกมีการติดเชื้อ cytomegalovirus ในทารกจึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม สำหรับวิธีการคัดกรองการติดเชื้อ cytomegalovirus ในทารกแรกเกิดนั้น การตรวจ polymerase chain reaction (PCR) จากน้ำลายของทารกเป็นวิธีการทดสอบคัดกรองที่มีความไวสูงและให้ผลบวกลวงต่ำ1 จึงแนะนำให้ใช้คัดกรองการติดเชื้อ cytomegalovirus ในทารกแรกเกิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Ross SA, Michaels MG, Ahmed A, et al. Contribution of Breastfeeding to False-Positive Saliva Polymerase Chain Reaction for Newborn Congenital Cytomegalovirus Screening. J Infect Dis 2018;217:1612-5.

การอมหัวนมของทารกไม่สัมพันธ์กับการสบฟันที่ผิดปกติ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การให้ลูกอมหัวนมเล่นของทารกขณะที่ดูดนมแม่ (nonnutritive sucking habit) แม้ทารกไม่ได้ดูดนม ในสังคมไทย ก็มีความเชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการสบฟันที่ผิดปกติของทารกหากมีการอมหัวนมเป็นเวลานาน มารดาและครอบครัวที่มีความเชื่อนี้อาจส่งผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สั้นลงได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการให้ลูกอมหัวนมเล่นขณะทารกดูดนมกับการสบฟันที่ผิดปกติของทารก พบว่าการให้ลูกอมหัวนมเล่นขณะทารกดูดนมไม่มีความสัมพันธ์กับการสบฟันที่ผิดปกติของทารก1 อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังมีขนาดตัวอย่างน้อย การศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตในขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นและเพียงพอจะทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับมารดาและครอบครัวและเพิ่มระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Roscoe MG, da Silva Bonifacio SV, da Silva TB, Pingueiro JM, Lemos MM, Feres MF. Association of Breastfeeding Duration, Nonnutritive Sucking Habits, and Malocclusion. Int J Clin Pediatr Dent 2018;11:18-22.

การวิตกกังวลเรื่องรูปร่างและการลดน้ำหนักมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               แม้ว่าการให้ลูกกินนมแม่จะช่วยเรื่องการลดน้ำหนักของมารดา แต่การวิตกกังวลเรื่องรูปร่าง การลดน้ำหนัก และภาวะซึมเศร้าอาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาในมารดาที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างพบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการกินสูงและมีความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ1 ซึ่งส่งผลเสียต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างมุมมองเกี่ยวกับรูปร่าง และการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของนมแม่ที่เหมาะสม จะช่วยให้มารดามีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งนี้ประกอบกับการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะช่วยส่งเสริมหรือเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Rodgers RF, O’Flynn JL, Bourdeau A, Zimmerman E. A biopsychosocial model of body image, disordered eating, and breastfeeding among postpartum women. Appetite 2018;126:163-8.

 

 

การดูแลโดยใช้การตั้งครรภ์เป็นศูนย์กลางช่วยการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระบวนการการจัดการให้บริการระหว่างการตั้งครรภ์มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการจัดการให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัว การจัดให้บริการโดยทั่วไปจะมุ่งให้ความรู้แก่มารดาแต่ละคนโดยไม่มีจุดเน้นประเด็นสำคัญจะมีความแตกต่างจากการจัดบริการที่ให้ความสำคัญแก่การตั้งครรภ์โดยใช้การตั้งครรภ์เป็นศูนย์กลาง มีการศึกษาที่เปรียบเทียบผลการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างการจัดการบริการการตั้งครรภ์โดยทั่วไปกับการจัดบริการที่ใช้การตั้งครรภ์เป็นศูนย์กลาง พบว่าการจัดบริการที่ใช้การตั้งครรภ์เป็นศูนย์กลางมีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่าการจัดการบริการการตั้งครรภ์โดยทั่วไ1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับรูปแบบการจัดให้บริการดูแลมารดาและครอบครัวระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเลือกการรูปแบบการจัดบริการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Robinson K, Garnier-Villarreal M, Hanson L. Effectiveness of CenteringPregnancy on Breastfeeding Initiation Among African Americans: A Systematic Review and Meta-analysis. J Perinat Neonatal Nurs 2018;32:116-26.

 

การจ่ายค่าตอบแทนเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    แม้ว่าคุณประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีมากหลาย แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังต่ำและยังไม่ถึงเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้คือร้อยละ 50 ทางหนึ่งคือการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่มารดาที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามกำหนด โดยมีการศึกษาพบว่าในพื้นที่ที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ การจ่ายค่าตอบแทนให้กับมารดาสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ซึ่งการลงทุนเพื่อเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเป็นการสร้างรากฐานของสุขภาพที่ดี แม้การจ่ายค่าตอบแทนจะสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แต่การสร้างพื้นฐานของความเข้าใจในเรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ควรมีการสนับสนุน เพื่อสร้างความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและครอบครัว สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมนมแม่ให้เกิดในสังคม จนเกิดเป็นสังคมนมแม่  สิ่งนี้จะสร้างความยั่งยืนของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่คงทนและยาวนานกว่า ดังนั้น  การสร้างความยั่งยืนของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่ไม่ใช่แค่เพียงการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Relton C, Strong M, Thomas KJ, et al. Effect of Financial Incentives on Breastfeeding: A Cluster Randomized Clinical Trial. JAMA Pediatr 2018;172:e174523.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)