โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในน้ำนมแม่ของมนุษย์มีสัดส่วนของโอลิโกแซคคาไรด์ที่แตกต่างกันกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ชนิดอื่น ซึ่งสัดส่วนของโอลิโกแซคาไรด์ที่แตกต่างกันมีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่แตกต่างกัน ในน้ำนมของมนุษย์มีโอลิโกแซคคาไรด์ 5-15 กรัมต่อลิตร ขณะที่น้ำนมวัวมีโอลิโกแซคคาไรด์ต่ำ 0.05 กรัมต่อลิตร และมีการศึกษาพบว่า โอลิโกแซคคาไรด์ในน้ำนมมนุษย์ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อ Streptococcus group B ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโอลิโกแซคคาไรด์อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อของลำไส้ที่เรียกว่า necrotizing enterocolitis โดยการติดเชื้อนี้มักพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการติดเชื้อของลำไส้ชนิดนี้ พบได้มาก 6-10 เท่าในทารกที่กินผงดัดแปลงสำหรับทารกเมื่อเทียบกับทารกที่กินนมแม่1 อย่างไรก็ตาม นอกจากสัดส่วนของปริมาณโอลิโกแซคคาไรด์ในน้ำนมแม่ที่มีผลต่อสุขภาพทารก แต่ส่วนประกอบของโอลิโกแซคคาไรด์ยังมีความสำคัญด้วย ดังนั้น ขณะที่ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเสริมโอลิโกแซคคาไรด์ในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกว่ามีผลดีต่อสุขภาพทารกแต่ก็มีการนำไปใช้เป็นประเด็นในโฆษณา มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์จึงควรพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้เพื่อใช้เลือกอาหารสำหรับทารกที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Bode L. Human Milk Oligosaccharides at the Interface of Maternal-Infant Health. Breastfeed Med 2018;13:S7-S8.

 

ความเชื่อมั่นและตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยให้มารดาให้นมแม่ได้แม้ต้องกลับไปทำงาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การกลับไปทำงานเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างหนึ่งที่สำคัญในการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพราะการทำมารดาต้องกลับไปทำงานอาจมีความจำเป็นต้องแยกจากทารก ทำให้มารดาต้องมีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องได้ในขณะที่ต้องกลับไปทำงาน มารดาที่ลาพักหลังคลอดได้นานกว่าก็จะมีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า ความเชื่อมั่นและความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องมากกว่าแม้ว่ามารดาต้องกลับไปทำงาน1 ดังนั้น การสร้างให้มารดามีความเชื่อมั่นและมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความสำคัญและบุคลากรทางการแพทย์ควรเสริมพลังโดยสร้างความมั่นใจและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่มารดาเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นของมารดาว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องได้แม้ว่าต้องกลับไปทำงาน

เอกสารอ้างอิง

  1. Sulaiman Z, Liamputtong P, Amir LH. Timing of return to work and women’s breastfeeding practices in urban Malaysia: A qualitative study. Health Soc Care Community 2018;26:48-55.

การตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการที่จะบรรลุภารกิจในแต่ละอย่างนั้น การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บุคลากรทางการแพทย์ควรสอบถามถึงเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ ให้ความรู้1 คำปรึกษา วางแผนร่วมกันกับมารดาและครอบครัว และวางแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาประสบความสำเร็จ เมื่อถึงระยะหลังคลอดการติดตาม ช่วยแก้ปัญหาและให้การสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอดที่มารดาต้องปรับตัวกับสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับมารดาซึ่งเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่จะเสริมพลังให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในแต่ละคนถือเป็นกลยุทธอย่างหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Spatz DL. Helping Mothers Reach Personal Breastfeeding Goals. Nurs Clin North Am 2018;53:253-61.

 

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ 

                  การที่บุคลากรทางการแพทย์จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ วิธีการคลอด เศรษฐานะ การกลับไปทำงานของมารดา การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รูปแบบการดูแลโดยใช้ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ระบบพี่เลี้ยงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการใช้สื่อเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่(1) ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช่วยปัจจัยที่ส่งเสริมและให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัจจัยที่เป็นอุปสรรค โดยหากสถานพยาบาลมีนโยบายและสนับสนุนบุคลากรให้ปฏิบัติตามแนวทางในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกหลายปัจจัย ซึ่งการทำการทบทวนและศึกษาเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่การรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

เอกสารอ้างอิง 

1.Sayres S, Visentin L. Breastfeeding: uncovering barriers and offering solutions. Curr Opin Pediatr 2018;30:591-6. 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)