ถามตอบเรื่องนมแม่ มารดายังคงให้นมลูกได้ไหม เมื่อกลับไปทำงาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                หากมารดาตั้งคำถามว่า “จะยังคงให้นมแม่แก่ทารกได้ไหม เมื่อมารดาต้องกลับไปทำงาน” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ การให้นมแม่แก่ทารกในกรณีที่มารดากลับไปทำงาน สามารถให้ได้1 โดยอาจมีการแนะนำที่เหมาะสมสำหรับมารดาในแต่ละคน ในกรณีที่มารดาทำงานใกล้บ้าน อาจใช้เวลาช่วงพักกลับบ้านมาให้นมลูกในระหว่างวัน แต่ในกรณีที่มารดาทำงานนอกบ้านและอยู่ไกลจะบ้าน การใช้เครื่องปั๊มนม ปั๊มนมแม่ในระหว่างเวลาพักในที่ทำงาน โดยความถี่ของการปั๊มนมเทียบเท่ากับช่วงเวลาที่ทารกหิวในระหว่างวัน และมารดาควรได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษานโยบายที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของหน่วยงานด้วย เพราะหากองค์กรที่มารดามีนโยบายที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาอาจได้รับเวลาที่ปั๊มนมแม่บ่อยขึ้น มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปั๊มนม หรืออาจมีการสนับสนุนเครื่องปั๊มนม และตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาน้ำนมในระหว่างที่มารดาเก็บที่ทำงาน น้ำนมแม่ที่มารดาเก็บได้ในช่วงที่มารดาทำงาน จะใช้ในการให้แก่ทารกในช่วงเวลาที่มารดาทำงาน สำหรับช่วงก่อนเวลาทำงานและหลังเลิกงานที่มารดาอยู่ที่บ้าน มารดายังคงสามารถจะให้ทารกกินนมจากเต้านมของมารดาโดยตรงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.

ถามตอบเรื่องนมแม่ มารดาเจ็บหัวนมควรทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                หากมารดาตั้งคำถามว่า “เมื่อให้ลูกดูดนมแม่ มารดารู้สึกเจ็บหัวนม ควรทำอย่างไร” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ อาการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังคลอดใหม่ภายในสัปดาห์แรก โดยเกิดขึ้นนาน 30-60 วินาทีขณะทารกเริ่มดูดนมแล้วดีขึ้น อาการนี้เป็นอาการปกติที่พบเจอได้ มักเกิดจากหัวนมที่ไวต่อการสัมผัสหรือการดูดนม ซึ่งจะหายไปได้เองในหนึ่งสัปดาห์1 แต่หากอาการเจ็บหัวนมเจ็บเมื่อทารกเริ่มดูดนมและเพิ่มมากขึ้น อาการเป็นอยู่นานกว่าหนึ่งสัปดาห์ มีหัวนมแตก มีไข้ มีการอักเสบ บวม แดง ร้อนของเต้านมร่วมด้วย มารดาควรไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยสาเหตุของการเจ็บหัวนมที่ผิดปกตินี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสาเหตุจากภาวะลิ้นติดของทารก การที่มารดามีน้ำนมมาก และการมีหัวนมแตก เป็นแผล อักเสบ หรือมีภาวะแทรกซ้อนของเต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม อย่างไรก็ตาม แม้มีภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เกิดขึ้น ขณะทำการรักษา มารดาก็ยังสามารถให้นมลูกอย่างต่อเนื่องได้  

เอกสารอ้างอิง

  1. Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.

ถามตอบเรื่องนมแม่ ใครคือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ในบทความต่าง ๆ ในเรื่องนมแม่มักมีการพูดถึง “ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่” แล้วหากมีคำถามว่าใครคือ ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ คำตอบคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญการในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ ซึ่งหากอธิบายเพียงแค่นี้อาจจะเป็นคำตอบที่มองไม่เห็นภาพหรือนึกไม่ออกว่าบุคลากรคนไหนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่แล้วจะพบผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ได้ที่ไหนหรือขอคำปรึกษาได้อย่างไร อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางในด้านการดูแลมารดาให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งหลักสูตรนี้นอกจากจะมีหลักสูตรของสถาบันในประเทศแล้ว ยังมีหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่นานาชาติ ซึ่งในประเทศไทยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านหลักสูตรนี้มีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น  หากมองบริบทของประเทศไทย ต้องอนุโลมโดยอาศัยสูติแพทย์และกุมารแพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้ทำให้ต้องมีการอบรมเรื่องนมแม่ในเนื้อหาหลักสูตรการอบรมแพทย์เฉพาะทาง สำหรับในบางจังหวัดหรือบางพื้นที่ที่ขาดแพทย์เฉพาะทาง อาจจำเป็นต้องอนุโลมว่า แพทย์ผู้ตรวจรักษาทั่วไปเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ ซึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ แพทยสภาได้เห็นความสำคัญโดยกำหนดเกณฑ์ความรู้เรื่องนมแม่ที่ต้องมีสำหรับนักศึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเนื้อหาทางการแพทย์มีมากขึ้น ๆ ทุกที ทำให้เวลาที่จะศึกษาในแต่ละหัวข้อน้อยลง ๆ  ทำให้แพทย์ยังขาดความมั่นใจในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้ในการปฏิบัติจริงแพทย์จำเป็นต้องไปอบรมเพิ่มเติมหากต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งการให้นมลูกบ่อย ๆ ตามความต้องการของทารกจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมของมารดามากขึ้น การให้นมแม่นั้นควรให้เมื่อทารกมีอาการบ่งบอกว่าหิว ไม่ควรกำหนดเวลาที่จะให้นมแก่ทารกกิน  การแก้ปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอโดยปฏิบัติตามข้อแนะนำเบื้องต้นนี้มักได้ผลในมารดาส่วนใหญ่ แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ร่วมกับการไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ด้วย เพื่อร่วมสังเกต ให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคลร่วมกับการติดตามอาการอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.

ถามตอบเรื่องนมแม่ ควรทำอย่างไรหากมารดามีน้ำนมไม่เพียงพอสำหรับทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             หากมารดาสงสัยว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ อย่างไรก็ตาม มารดาส่วนใหญ่จะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก ดังนั้น หากมารดาสงสัยว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ ควรสังเกตว่าตนเองดื่มน้ำวันหนึ่งเพียงพอหรือไม่ โดยทั่วไป มารดาควรดื่มน้ำวันละ 1800-2400 มิลลิลิตร และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ผัก และผลไม่ให้พอเพียงด้วย มารดาควรให้ทารกกินนมแม่วันละ 10-12 ครั้ง แต่ละครั้งควรให้นาน 20-30 นาทีโดยที่ดูดนมในแต่ละข้างนาน 10-15 นาที1 ซึ่งการให้นมลูกบ่อย ๆ ตามความต้องการของทารกจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมของมารดามากขึ้น การให้นมแม่นั้นควรให้เมื่อทารกมีอาการบ่งบอกว่าหิว ไม่ควรกำหนดเวลาที่จะให้นมแก่ทารกกิน  การแก้ปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอโดยปฏิบัติตามข้อแนะนำเบื้องต้นนี้มักได้ผลในมารดาส่วนใหญ่ แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ร่วมกับการไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ด้วย เพื่อร่วมสังเกต ให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคลร่วมกับการติดตามอาการอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.

ถามตอบเรื่องนมแม่ มีข้อห้ามอะไรที่มารดาไม่ควรให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           หากมารดาตั้งคำถามกับหมอผู้ให้การดูแลว่า “มีข้อห้ามอะไรที่มารดาไม่ควรให้นมลูก” คำตอบที่ควรให้แก่มารดาคือ การให้นมลูกสามารถให้ได้ในมารดาส่วนใหญ่ แม้ว่ามารดาจะมีประวัติการเสริมเต้านม ผ่าตัดเต้านม มารดาที่มีการติดเชื้อหลังคลอด หรือในทารกที่มีภาวะลิ้นติด ทารกตัวเหลืองและทารกที่จำเป็นต้องรักษาตัวที่หอทารกป่วยวิกฤตก็มีควรเริ่มต้นให้นมแม่ก่อนในกรณีเหล่านี้เนื่องจากประโยชน์ที่มีผลดีต่อสุขภาพของนมแม่แก่ทารก1 สำหรับข้อห้ามที่มีในการให้นมแม่น้อยมาก ได้แก่ มารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวีและทารกที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลกาแลคโตสในนมแม่ได้ซึ่งภาวะนี้ก็พบน้อยมาก ดังนั้นหากมารดามีข้อสงสัยเรื่องปัญหาการให้นมแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่เพื่อให้คำปรึกษาทันทีไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยในระยะก่อนหรือหลังคลอดก็ตาม

เอกสารอ้างอิง

  1. Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)