การเข้าถึงความรู้และสื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคนไทยยังจำกัด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ปัจจุบัน สื่อและความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านการสื่อสารออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ตรวมทั้งความรู้และสื่อเรื่องนมแม่ แม้ว่าคนไทยจะมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากกว่าในยุคแรก โดยที่ในยุคนี้จะเป็นยุค 4G ที่กำลังจะย่างเข้ายุค 5G แต่การเข้าถึงที่มากนั้นยังมีความจำกัดในเฉพาะชุมชนเมือง และยังขาดการเข้าถึงในกลุ่มประชากรที่อยู่ในชนบท ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามจะจัดสรรให้กลุ่มคนในชนบทสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยการมีจัดโครงการเน็ตประชารัฐเพื่อจะช่วยเอื้อให้เกิดการสร้างโอกาสการเข้าถึงความรู้และสื่อที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ยังคงไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปศึกษาสื่อความรู้ทางอินเตอร์เน็ต ได้แก่ อุปสรรคทางด้านภาษา อุปสรรคในด้านการให้คำปรึกษาหรือให้การแนะนำการเข้าถึงสื่อที่เป็นประโยชน์ และอุปสรรคด้านการทำความเข้าใจในสื่อต่าง ๆ ที่มีในอินเตอร์เน็ต มีการศึกษาการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านแอปพบว่า การจัดทำสื่อความรู้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น่าจะช่วยให้การเข้าถึงและทำความเข้าใจในสื่อความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นดีขึ้น โดยเฉพาะการเลือกทำแอปที่กำหนดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง (user-centers) จะช่วยให้การเข้าถึงสื่อทำได้ง่ายและจะช่วยลดอุปสรรคของการเข้าถึงในกลุ่มประชากรในชนบท1 ถึงแม้ว่าสื่อทางอินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ควรลืมหรือละทิ้งการสนับสนุนผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย เนื่องจากกลุ่มประชากรยังมีพื้นฐานความรู้เบื้องต้นและจริตที่แตกต่างกัน การให้ความรู้ที่เหมาะกับจริตของผู้รับจะได้รับความสนใจและเอื้อให้เกิดผลมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Wheaton N, Lenehan J, Amir LH. Evaluation of a Breastfeeding App in Rural Australia: Prospective Cohort Study. J Hum Lact 2018;34:711-20.

 

ประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่ที่มารดาและบุคลากรทางการแพทย์ควรรู้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                นมแม่ถือเป็นมาตรฐานอาหารสำหรับทารกแรกเกิดที่ควรใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดมาตรฐานในการเจริญเติบโตและพํฒนาการของทารก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรยึดหลักเกณฑ์นี้และทำความเข้าใจกับเกณฑ์กำหนดมาตรฐานที่ใช้ให้ดีก่อน โดยเมื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมแม่ก็ควรใช้กราฟมาตรฐานที่สร้างจากข้อมูลของทารกที่กินนมแม่ เนื่องจากหากวัดการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมแม่ไปเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก อาจพบว่ามีการเจริญเติบโตที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ทั้งที่ความจริงทารกอาจเจริญเติบโตเป็นปกติเมื่อเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมแม่ หากมารดาเข้าใจว่า “นมแม่เป็นอาหารมาตรฐานสำหรับทารก” แล้ว ก็จะตระหนักถึงความสำคัญ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมารดาก็จะสนใจถึงประโยชน์ต่าง ๆ ของการให้นมแม่แก่ทารกเป็นผลพลอยได้ตามมา โดยสรุปของประโยชน์ของนมแม่ต่อมารดา ได้แก่ การลดการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคทางหลอดเลือดและหัวใจ ส่วนประโยชน์ของนมแม่ต่อทารก ได้แก่ การช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันที่ดี ลดการเสียชีวิตของทารกในระยะแรก ลดการเกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบ โรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้ และช่วยในพัฒนาการและความฉลาด (IQ) ของทารก1 ซึ่งการที่มารดามีความเข้าใจถึงประโยชน์ของนมแม่ ก็จะเกิดผลดีต่อการปฏิบัติคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Westerfield KL, Koenig K, Oh R. Breastfeeding: Common Questions and Answers. Am Fam Physician 2018;98:368-73.

 

 

 

ความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารกสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การฝังใจแรกรัก (imprinting) ที่เกิดกับทารกมักพบจากการมองเห็น การสัมผัสโอบกอด การให้ทารกอ้อมอกดูดนมในระยะแรกคลอด สำหรับความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารก (attachment security) ของมารดานั้นสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการศึกษาพบว่า ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถทำนายความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารกของมารดาได้ในระยะสองปีหรืออาจจะมากกว่านั้น1 ซึ่งคำอธิบายในเรื่องความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารกน่าจะมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการได้รับการหลั่งของฮอร์โมนแห่งความรัก คือ ออกซิโทซินที่จะหลั่งขณะทารกกินนมแม่ด้วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของกลไกเหล่ายังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Weaver JM, Schofield TJ, Papp LM. Breastfeeding duration predicts greater maternal sensitivity over the next decade. Dev Psychol 2018;54:220-7.

ความสำคัญของความรู้เรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    บุคลากรทางการแพทย์นับเป็นกลไกที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม บุคลากรทำหน้าที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันยังขาดความรู้ที่เพียงพอที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลให้ขาดความมั่นใจ และนำไปสู่การปฏิเสธหรือไม่มีความยินดีที่จะให้คำปรึกษาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าการจัดหลักสูตรหรือการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยยนมแม่ได้1 ประเทศไทยในปัจจุบันมีหลักสูตรเฉพาะทางเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นหลักสูตร 4 เดือนของพยาบาล แต่สถาบันที่ทำหน้าที่จัดหลักสูตรหรืออบรมพัฒนาความรู้เรื่องนมแม่ยังมีจำกัด ขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจเกี่ยวกับการอบรมหรือพัฒนาตนเองในเรื่องนี้มีจำนวนมากในแต่ละปี จึงสมควรมีนโยบายในการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดกระบวนการที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ และมีความมั่นใจที่จะช่วยให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บรรลุตามเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายไว้คือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประชากรของทั่วโลก ควรมีอัตราร้อยละ 50

เอกสารอ้างอิง

  1. Yang SF, Salamonson Y, Burns E, Schmied V. Breastfeeding knowledge and attitudes of health professional students: a systematic review. Int Breastfeed J 2018;13:8.

บรรยากาศและการฟังเทปสมาธิลดความเครียดระหว่างการให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ความเครียดมีผลเสียต่อการให้นมบุตร เนื่องจากจะมีผลลดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่จะช่วยให้การหลั่งไหลของน้ำนมระหว่างทารกดูดนมนั้นง่ายขึ้น ดังนั้น  การลดหรือป้องกันอาการเครียดของมารดาย่อมส่งผลที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงวิธีการที่จะช่วยลดความเครียดของมารดาในระหว่างให้นมลูก พบว่า การฟังเทปช่วยเรื่องสมาธิ การเปิดเพลงที่ผ่อนคลาย และ/หรือการสร้างบรรยากาศที่สงบ อบอุ่น สบาย แสงสว่างที่พอเหมาะ ไม่สว่างจ้าจนเกินไป จะช่วยลดความเครียดให้กับมารดาระหว่างการให้นมบุตรได้1 จะเห็นว่า หลาย ๆ รูปแบบที่มีส่วนช่วยให้มารดาผ่อนคลายล้วนมีส่วนช่วยให้การให้นมลูกทำได้ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับมารดาและครอบครัว เพื่อร่วมกันช่วยสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีและสร้างครอบครัวที่เป็นมิตรต่อการให้นมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Yu J, Wells J, Wei Z, Fewtrell M. Randomized Trial Comparing the Physiological and Psychological Effects of Different Relaxation Interventions in Chinese Women Breastfeeding Their Healthy Term Infant. Breastfeed Med 2018.

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)