รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคอ้วน ส่วนหนึ่งพบเป็นสาเหตุจากการกินตามอารมณ์ (emotional eating) โดยที่ไม่มีความหิว แต่เกิดจากมีอารมณ์โกรธ เบื่อ เหงา เศร้า เครียด ซึ่งมักพบในคนที่ไม่สามารถแสดงอารมณ์ออกมาเป็นคำพูด (alexithymia) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาพบว่า ทารกที่มีระยะเวลาการกินนมแม่นานจะพบการกินตามอารมณ์ในวัยรุ่นน้อยกว่าและพบว่าทารกสามารถแสดงอารมณ์เป็นคำพูดได้มากกว่า 1 โดยพบความสัมพันธ์นี้ในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (โดยทั่วไปการแสดงอารมณ์เป็นคำพูด เด็กหญิงจะมีความสามารถในด้านนี้มากกว่าเด็กชาย) ดังนั้น กลไกที่จะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนของการกินนมแม่ในเด็กชายอาจสามารถอธิบายได้จากการป้องกันการเกิดภาวะกินตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น
เอกสารอ้างอิง
van Strien T, Beijers R, Smeekens S, Winkens LHH. Duration of breastfeeding is associated with emotional eating through its effect on alexithymia in boys, but not girls. Appetite 2018;132:97-105.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ประโยชน์ของการคลอดทารกในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ โรงพยาบาลจะมีนโยบายและการปฏิบัติรวมทั้งขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะเสริมสร้างความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและครอบครัว และมีแนวทางการดูแลส่งเสริมให้ทารกได้เริ่มต้นการกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด มีการส่งเสริมให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และหลีกเลี่ยงการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกและอาหารอื่นที่จะให้แก่ทารกในระยะแรก นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามและส่งต่อการดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรอาสาที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชน ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงพบว่าหากมีการให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวในโรงพยาบาลได้ จะช่วยให้ระยะเวลาการให้นมลูกของมารดายาวนานขึ้น 1 นี่น่าจะถือเป็นผลประโยชน์หนึ่งของการที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลดูแลมารดาและทารกอย่างเป็นมิตรต่อทารกในเรื่องของนมแม่และปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Vehling L, Chan D, McGavock J, et al. Exclusive breastfeeding in hospital predicts longer breastfeeding duration in Canada: Implications for health equity. Birth 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
จากการศึกษาที่ผ่าน ๆ มา พบว่าอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังพบว่า ลักษณะของบุคลิกภาพของมารดามีความสำคัญต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่าบุคลิกภาพที่เปิดรับประสบการณ์ (openness) และบุคลิกภาพที่ยินยอมเห็นใจ (agreeableness) มีผลดีต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนบุคลิกภาพที่มีความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) และบุคลิกภาพที่มีความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) มีผลเสียต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่ลักษณะของบุคลิกภาพของมารดาอาจจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าอาการซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวลของมารดา1 ดังนั้นในการให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ต่อมารดาควรมีการคำนึงถึงความสำคัญของลักษณะบุคลิกภาพของมารดาเพื่อเลือกการให้คำปรึกษาให้เหมาะกับบุคลิกภาพของมารดาด้วย
เอกสารอ้างอิง
Verbeek T, Quittner L, de Cock P, de Groot N, Bockting CLH, Burger H. Personality Traits Predict Meeting the WHO Recommendation of 6 Months’ Breastfeeding: A Prospective General Population Cohort Study. Adv Neonatal Care 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มักขาดความมั่นใจในการสอนหรือให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การจัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างสม่ำเสมอ ฝึกทักษะ และเพิ่มสมรรถนะให้บุคลากรมีความรู้ที่ทันสมัย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้บุคลากรในการสอนและให้มารดาและครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังพบว่า การจัดทำวิดีโอการจัดท่าให้นมลูกและการบีบน้ำนมเพื่อให้บุคลากรได้รับความรู้และทบทวนทักษะการปฏิบัติยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรที่จะทำหน้าที่ในการสอนมารดา ซึ่งจะเห็นว่า การจัดทำสื่อการสอนวิดีโอให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นวิธีที่ง่าย และอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีอันหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่บุคลากร โดยหากมารดามีการจัดท่าให้นมลูกและบีบน้ำนมได้ดีและเหมาะสมจะเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มสูงขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
Wallace LM, Ma Y, Qiu LQ, Dunn OM. Educational videos for practitioners attending Baby Friendly Hospital Initiative workshops supporting breastfeeding positioning, attachment and hand expression skills: Effects on knowledge and confidence. Nurse Educ Pract 2018;31:7-13.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันว่า ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและของบิดาจะมีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ก็ยังเกิดคำถามต่อมาว่า หากความตั้งใจของมารดาและบิดาที่ไม่สอดคล้องกันในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะส่งผลต่อการให้นมลูกอย่างไร เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาถึงเรื่องนี้ พบว่า หากมารดามีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องที่จะไม่ให้ลูกกินนมแม่ ทารกหลังคลอดจะมีโอกาสที่จะไม่ได้กินนมแม่หรือมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนต่ำกว่าในกรณีที่ทั้งมารดาและบิดาเห็นด้วยว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และพบผลในทำนองเดียวกัน หากมารดาและบิดามีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือพบว่า ทารกหลังคลอดจะมีโอกาสที่จะไม่ได้กินนมแม่หรือมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนต่ำกว่าในกรณีที่ทั้งมารดาและบิดาเห็นด้วยว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 ดังนั้น ในการให้ความรู้ที่เพียงพอที่จะสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความจำเป็นต้องให้ทั้งมารดาและบิดาเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในการตัดสินใจในการให้นมลูกหลังคลอดและเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Wallenborn JT, Chambers G, Lowery EP, Masho SW. Discordance in Couples Pregnancy Intentions and Breastfeeding Duration: Results from the National Survey of Family Growth 2011-2013. J Pregnancy 2018;2018:8568341.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)