การให้ลูกกินนมแม่ลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนในทารกได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การฉีดวัคซีนในทารกแรกเกิดบางครั้งอาจทำให้มารดาเครียดหรือวิตกกังวลกับความเจ็บปวดของทารกได้ ยิ่งหากทารกร้องไห้ดังหรือร้องไห้ต่อเนื่องกันนาน คำถามคือมีความจำเป็นต้องให้หรือใช้ยาแก้ปวดสำหรับลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนในทารกหรือไม่ หากมองเพียงแง่ลดความเจ็บปวดหรือในแง่ที่อาจจะช่วยลดความวิตกกังวลของมารดา การใช้ยาแก้ปวดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดความเจ็บปวดของทารก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่า การให้ลูกกินนมแม่ก่อน ระหว่างหรือหลังจากการฉีดวัคซีนในทารกสามารถช่วยลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อมีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประโยชน์ของการให้ลูกกินนมแม่เพื่อลดความเจ็บปวดแล้ว การให้ลูกกินนมแม่น่าจะเป็นหนทางแรกที่แนะนำสำหรับลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนในทารกก่อนที่จะเลือกใช้วิธีอื่น ๆ หรือการใช้ยาแก้ปวด เนื่องจากการให้ลูกกินนมแม่นั้นไม่เหมือนกับการใช้ยาที่อาจมีอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน ความรู้นี้จึงควรมีการส่งเสริมหรือได้รับการต่อยอดให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ คือ “ให้ลูกกินนมแม่เพื่อลดความเจ็บปวดของทารกจากการฉีดวัคซีน”1

เอกสารอ้างอิง

  1. Suleiman N, Shamsuddin SH, Mohd Rus R, Drahman S, Taib M. The Relevancy of paracetamol and Breastfeeding Post Infant Vaccination: A Systematic Review. Pharmacy (Basel) 2018;6.

 

ความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบิดาสัมพันธ์กับระยะเวลาให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในระยะหลังคลอดขณะมารดาให้นมบุตร มารดาต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงของบทบาทของตนเอง โดยมารดาเริ่มที่จะมีบทบาทในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือแสดงบทบาทของมารดา ขณะเดียวกันแต่ดั้งเดิม ตัวมารดาเองต้องมีบทบาทและทำหน้าที่ของภรรยา นอกจากนี้ ตัวมารดายังอาจมีบทบาทในกรณีที่มารดาอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่อาจจะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในฐานะเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว ดังนั้น การมีคนที่คอยช่วยเหลือโดยเฉพาะสามีที่จะให้การดูแล แบ่งเบาภาะงานบทบาทของมารดาในด้านอื่น ๆ น่าจะเป็นการช่วยให้มารดามีเวลาที่จะให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาถึงการมีส่วนร่วมของบิดาในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า ความรู้สึกของมารดาถึงการมีส่วนร่วมของบิดานั้นสัมพันธ์กับโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง1 ซึ่งเหตุผลที่ใช้ในการอธิบายการที่ทำให้มารดามีแนวโน้มจะให้นมลูกได้นานกว่าก็อาจจะเป็นเพราะมารดามีคนที่ช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และลดภาระหน้าที่อื่น ๆ ในครอบครัวนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Tombeau Cost K, Jonas W, Unternaehrer E, et al. Maternal perceptions of paternal investment are associated with relationship satisfaction and breastfeeding duration in humans. J Fam Psychol 2018.

 

 

 

การให้นมแม่ไม่เพียงแค่ให้แต่เรื่องของน้ำนมเท่านั้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในกระบวนการของการให้นมลูกหลังคลอดนั้น หากพิจารณาตามกลไกของสรีรวิทยาจะมีการกระตุ้นให้มารดาหลั่งน้ำนมออกมาโดยกระบวนการการดูดนมของทารก ซึ่งกลไกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมารดานั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนออกซิโทซินที่สร้างจากสมองส่วนไฮโปธารามัสที่จะรับรู้หรือมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานได้จากอารมณ์และความรู้สึกของมารดา ดังนั้น การที่กระบวนการการให้นมลูกจะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม มารดาจำเป็นจะต้องมีอารมณ์และความรู้สึกที่เหมาะสมด้วย ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของทฤษฎีทวินิยม (Cartesian dualism)1 ที่มองว่ากายกับจิตนั้นแยกกันอย่างเด็ดขาด เป็นอิสระต่อกัน แต่จะมีปฏิสัมพันธ์กันได้ (คือสาเหตุของกายจะมีอิทธิพลต่อสาเหตุของจิต และสาเหตุของจิตจะมีอิทธิพลต่อกาย) การที่มารดาจะสามารถให้นมลูกได้นั้นจึงควรมีความสมบูรณ์ของทั้งกายและจิต ส่วนผลของจิตของมารดาจะมีความสัมพันธ์กับจิตของทารกหรือไม่นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมองถึงกระบวนการพื้นฐานในการให้นมลูก มารดาต้องโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ จ้องมอง แสดงความรู้สึกและสื่อสารกับทารกขณะที่ให้ลูกกินนมแม่สามารถช่วยทารกแรกเกิดที่ป่วยที่หอทารกป่วยวิกฤตให้ฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้น สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งสะท้อนถึงปฏิกิริยาที่กายและจิตของมารดามีผลกระทบหรือความสัมพันธ์ต่อกายและจิตของทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. van Wijlen JE. Breastfeeding woman or lactating object? A critical philosophical discussion on the influence of Cartesian dualism on breastfeeding in the neonatal intensive care unit. J Clin Nurs 2018.

 

การเลือกอะไรอย่างง่ายและเอาสบายอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในช่วงหลังคลอด มารดาที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายและอารมณ์ที่ส่งผลต่อความเครียดและความสะดวกสบายของมารดาในช่วงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด ซึ่งโดยทั่วไปการให้ลูกได้กินนมแม่จะกระตุ้นให้เกิดความรัก ความผูกพันของแม่และลูก สร้างประสบการณ์ การฝังใจ (imprinting) สร้างความรู้สึกปกป้องและต้องการดูแลหรือคุ้มภัยให้แก่ลูก ซึ่งในกระบวนการนี้มารดาจะพบทั้งความรู้สึกที่เป็นสุขที่ได้ทุ่มเทความรักให้แก่บุตรและอาจพบอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการขาดความรู้หรือทักษะในการให้นมลูกซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบายแก่มารดาได้ อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว ส่วนใหญ่มารดาที่ผ่านประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักมีความรู้สึกในแง่ที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาหนึ่งที่เลือกหัวข้อศึกษาที่น่าสนใจคือ การศึกษาการเลือกที่จะแสวงหาความง่ายหรือเอาความสะดวกสบายของมารดาในระหว่างที่ช่วงที่ให้นมลูก พบว่า หากมารดาเลือกที่จะแสวงหา มุ่งเน้นแต่ความง่ายหรือเอาแต่ความสบายโดยไม่คำนึงหรือคิดถึงประโยชน์หรือประสบการณ์ที่ดีที่จะได้จากการให้นมลูก อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ดังนั้น “แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไม่ใช่เรื่องที่สบายทั้งหมด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าประทับใจของทั้งมารดาและครอบครัวที่ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จที่จะสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ลูกในอนาคต”

เอกสารอ้างอิง

  1. Benedett A, Ferraz L, Silva IA. Breastfeeding: a search for comfort. Rev Pesqui-Cuid Fund 2018;10:458-64.

 

 

 

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการหย่านมแม่คล้ายคลึงกัน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีหลากหลายทั้งทางด้านปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ค่านิยมและความเชื่อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและมีบทบาทที่ส่งผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้านนมแม่ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่ทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงปัจจัยที่มักพบเป็นหลักจะมีความคล้ายคลึงกัน โดยที่ปัจจัยเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ยังมีผลต่อการหย่านมด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ อายุของมารดา ลำดับครรภ์ สถานะของการทำงาน และลักษณะของครอบครัว1 (ที่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย) และปัจจัยที่ได้รับการสนใจอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การศึกษา ที่จะส่งผลต่อความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติของมารดาทั้งในด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการหย่านม ซึ่งในส่วนของความรู้นี้ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมในการดูแลและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครอบครัวด้วย ได้แก่ สามี ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้อง ดังนั้น การวิเคราะห์ให้ละเอียดถึงขนาดของลำดับความสัมพันธ์ในแต่ละปัจจัย นำมาวิเคราะห์ เลือกกระบวนการสนับสนุนที่เหมาะสมในปัจจัยเพียงหนึ่งหรือสองปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง รณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินผลเป็นระยะๆ น่าจะส่งผลในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ahmed K, Talha M, Khalid Z, Khurshid M, Ishtiaq R. Breastfeeding and Weaning: Practices in Urban Slums of Southern Punjab, Pakistan. Cureus 2018;10.

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)