มารดาที่ขาดไอโอดีนอาจจะมีการขาดซีลีเนียมในทารกด้วย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ในมารดาที่อยู่ในพื้นที่ที่ขาดสารไอโอดีน มักพบว่าอาจจะมีการขาดธาตุซีลีเนียมด้วย ความต้องการซีลีเนียม (selenium) ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวันละ 70 ไมโครกรัม ความต้องการซีลีเนียมเพิ่มจากภาวะปกติ 15 ไมโครกรัมต่อวัน ซีลีเนียมพบในอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ปลาทูน่า และธัญพืช ซึ่งจะคล้ายกับอาหารที่มีไอโอดีน ซีลีเนียมจะช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หากขาดอาจก่อให้เกิดโรคคีชาน (Keshan disease) ที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ และโรคคาชีน-เบค (Kashin-Beck disease) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและข้อ โดยมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อแข็ง งอลำบาก นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการทำงานของต่อมไทรอยด์1 ดังนั้น หากมารดามีประวัติที่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน ควรมีการตรวจการขาดซีลีเนียมด้วย หรืออาจจะเลือกที่จะเสริมไอโอดีนไปพร้อมกับซีลีเนียมเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามการเลือกแนวทางการดูแลรักษาในสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและบริบทของโรงพยาบาลในแต่ละโรงพยาบาลด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Jin Y, Coad J, Weber JL, Thomson JS, Brough L. Selenium Intake in Iodine-Deficient Pregnant and Breastfeeding Women in New Zealand. Nutrients 2019;11.

 

การให้ลูกกินนมแม่ช่วยมารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การที่มารดาเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์พบว่าเมื่อติดตามมารดาอย่างต่อเนื่องไปในอนาคต มารดาราวครึ่งหนึ่งมีโอกาสที่จะพบเป็นเบาหวานได้ การให้ลูกได้กินนมแม่พบว่ามีผลกระทบต่อมารดาในการเผาพลาญอาหารและเมตาบอลิซึ่ม รวมทั้งเบาหวานของมารดาด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนจะช่วยเรื่องการเผาพลาญอาหารและเมตาบอลิซึ่ม พร้อมทั้งป้องกันระดับน้ำตาลที่ผิดปกติของมารดาในอนาคต1 ซึ่งหมายถึงน่าจะป้องกันการเกิดเบาหวานของมารดาด้วย ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลยที่จะให้คำแนะนำแก่มารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ในการที่จะให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานในอนาคตให้น้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Corrado F, Giunta L, Granese R, et al. Metabolic effects of breastfeeding in women with previous gestational diabetes diagnosed according to the IADPSG criteria. J Matern Fetal Neonatal Med 2019;32:225-8.

 

มารดาที่ผ่าตัดเสริมเต้านมมีโอกาสให้นมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ค่านิยมเรื่องการเสริมเต้านมในสตรีนั้นในปัจจุบันได้รับการยอมรับทางสังคมและมีการผ่าตัดเสริมเต้านมสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเสริมเต้านมในมารดาในทางการแพทย์อาจมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีการศึกษาในประเทศฝรั่งเศสที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมสตรีจำนวน 1073 ราย มีสตรีที่ตั้งครรภ์และคลอดจำนวน 75 ราย มี 51 รายที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยใส่วัสดุเสริมเต้านมหลังต่อมน้ำนม (retroglandular implant) จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้น้อยกว่ามารดาที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยใส่วัสดุเสริมเต้านมหลังกล้ามเนื้อหน้าอก (retromuscular implant)1 ดังนั้นในมารดาที่วางแผนตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมและควรเลือกวิธีที่เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bompy L, Gerenton B, Cristofari S, et al. Impact on Breastfeeding According to Implant Features in Breast Augmentation: A Multicentric Retrospective Study. Ann Plast Surg 2019;82:11-4.

 

 

การมีธนาคารนมแม่ช่วยลดการเสียชีวิตของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            นมแม่นั้นมีประโยชน์ที่ทราบกันอยู่แล้วว่า จะช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันของทารกซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตของทารกได้ ในกรณีที่ทารกป่วยแล้วจำเป็นต้องการการดูแลเป็นพิเศษที่หอทารกวิกฤต หากมีการเตรียมให้มารดาบีบหรือปั๊มนมให้มาให้แก่ทารก จะช่วยป้องกันการเกิดการอับเสบเน่าของลำไส้ (necrotizing enterocolitis) และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในมารดาบางคนอาจมีปัญหาในการเริ่มต้นการกระตุ้นนมแม่ช้าหรือขาดการส่งเสริมที่จะให้มารดาได้บีบหรือปั๊มนมหากมารดาจำเป็นต้องแยกจากทารกตั้งแต่ในระยะแรก ทำให้มารดาขาดน้ำนมที่จะมาให้แก่ทารก แม้ว่าการให้นมของมารดาแก่ทารกของตนเองน่าจะดีที่สุด แต่การมีการรับบริจาคนม ตรวจคัดกรอง และสร้างให้เกิดธนาคารนมแม่ที่จะรองรับมารดาในกลุ่มที่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถจะให้ลูกกินนมของตนเองได้ ก็ยังเกิดประโยชน์แก่ทารก โดยมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยลดการเสียชีวิตของทารก ลดการเกิดการอักเสบเน่าของลำไส้ และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกกลุ่มนี้ด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Adhisivam B, Vishnu Bhat B, Banupriya N, Poorna R, Plakkal N, Palanivel C. Impact of human milk banking on neonatal mortality, necrotizing enterocolitis, and exclusive breastfeeding – experience from a tertiary care teaching hospital, south India. J Matern Fetal Neonatal Med 2019;32:902-5.

 

 

นมแม่ช่วยป้องกันโรคไขมันเกาะตับ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ลูกได้กินนมแม่จะมีประโยชน์ต่อภูมิคุ้มกันของทารก ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อได้น้อยกว่า นอกจากนี้ผลดีของการที่ลูกได้กินนมแม่ยังส่งผลต่อโรคไม่ติดต่อหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเมตาบอลิก (metabolic disease) เบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งเป็นโรคอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และเช่นเดียวกันกับโรคทางเมตาบอลิกอื่น ๆ การให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจะช่วยป้องกันการเกิดโรคไขมันเกาะตับ (non-alcoholic  fatty liver disease) เมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นได้1 นอกจากการให้ลูกได้กินนมแม่เพื่อป้องกันโรคไขมันเกาะตับแล้ว การเตรียมตัวของมารดาที่ดีที่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์คือ ควบคุมให้ดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์ของมารดาปกติ ไม่อยู่ในภาวะอ้วน จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไขมันเกาะตับในทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Nobili V, Schwimmer JB, Vajro P. Breastfeeding and NAFLD from the maternal side of the mother-infant dyad. J Hepatol 2019;70:13-4.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)