การให้ลูกกินนมแม่ลดความเจ็บป่วยในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า ประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่จะช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บป่วยของทารกที่กินนมแม่ได้ มีการศึกษาติดตามทารกที่กินนมแม่กับความสัมพันธ์ในการลดความเจ็บป่วยของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าวัยเด็กพบว่า ในทารกที่กินนมแม่จะมีการท้องเสียและการเป็นหวัดน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่1 จากข้อมูลนี้น่าจะบอกถึงผลดีของการกินนมแม่ที่มีต่อเนื่องไม่ใช่แต่เพียงขณะที่ทารกได้รับนมแม่ ยังมีผลระยะยาวในการช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะช่วยให้ทารกเจ็บป่วยได้น้อยกว่า เมื่อทารกมีความเจ็บป่วยน้อยกว่าก็จะลดความวิตกกังวลของบิดามารดาเรื่องความเจ็บป่วยของลูก ลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียเมื่อทารกต้องมารับการรักษาพยาบาล และยังมีผลกระทบต่อหน้าที่การทำงานของบิดามารดา หากต้องมีการหยุดงานเพื่อพาทารกไปรักษาพยาบาล ดังนั้น การวางพื้นฐานสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกตั้งแต่แรกเกิดโดยการกินนมแม่จึงสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนด้านสุขภาพที่เป็นผลประโยชน์ต่อในทารกทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

  1. Li S, Yue A, Abbey C, Medina A, Shi Y. Breastfeeding and the Risk of Illness among Young Children in Rural China. Int J Environ Res Public Health 2019;16.

ความสำคัญของสัปดาห์แรกในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                หลังคลอดการให้ความรู้และช่วยให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีความมั่นใจและสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองนั้น บางครั้งอาจมีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลา เนื่องจากในระยะหลังคลอด มารดามักจะได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านภายในหนึ่งหรือสองวันหลังคลอดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถานพยาบาลรวมทั้งกระแสของการอนุญาตให้มารดามีแนวโน้มที่จะให้กลับบ้านเร็วเพื่อกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงขณะที่อยู่ที่บ้าน แต่จากนโยบายนี้ การที่จะสร้างให้มารดาเกิดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจมีความลำบาก การเลือกที่จะนัดติดตามเพื่อให้คำปรึกษาเพิ่มเติมในสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สองจึงมีความจำเป็น1 ซึ่งการเลือกที่จะนัดติดตามการรักษานั้น การคัดกรองมารดาตามความเสี่ยงเพื่อวางแผนการนัดติดตามการรักษาจะเป็นประโยชน์ โดยจะช่วยเลือกมารดาที่มีความเสี่ยงสูงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ก็ควรมีการนัดติดตามและให้คำปรึกษาเร็วกว่ามารดาที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น การคัดกรองในมารดาหลังคลอดเพื่อประเมินความเสี่ยงจึงได้รับคำแนะนำให้มีการปฏิบัติ เพื่อช่วยให้กระบวนการนัดติดตามมารดาทำได้อย่างเหมาะสมและมีประโยชน์สูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Levene I, O’Brien F. Fifteen-minute consultation: Breastfeeding in the first 2 weeks of life-a hospital perspective. Arch Dis Child Educ Pract Ed 2019;104:20-6.

 

 

 

ความรู้สึกของบุคลากรต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมหาวิทยาลัยภาครัฐ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระแสของการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีเพิ่มมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน มีการศึกษาในมหาวิทยาลัยภาครัฐในประเทศสเปนพบว่า บุคลากรเกือบทั้งหมดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือร้อยละ 92.9 และพบบุคลากรราวครึ่งหนึ่งที่ยังคงให้ลูกกินนมแม่หลังกลับมาทำงานแล้ว (ร้อยละ 51.3) บุคลากรต้องการให้มีช่วงเวลาที่พักเพื่อการให้นมลูกและสามารถจัดสรรเวลาได้โดยสะดวก และมีพื้นที่ที่เหมาะสมที่จัดไว้สำหรับการปั๊มนม และยังพบว่าบุคลากรของคณะยังคงให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังการลาพักหลังคลอดสูงกว่าบุคลากรในสายบริหาร1 ดังนั้นสถาบันควรมีการสนับสนุนเรื่องการจัดสรรเวลา พื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเอื้อให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตอบสนองต่อความรู้สึกของบุคลากรและช่วยในการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังจากการลาพักเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Leon-Larios F, Pinero-Pinto E, Arnedillo-Sanchez S, Ruiz-Ferron C, Casado-Mejia R, Benitez-Lugo M. Female employees’ perception of breastfeeding-friendly support in a public university in Spain. Public Health Nurs 2019.

การใช้นิโคตินเพื่อการรักษาการสูบบุหรี่มีผลเสียต่อการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การสูบบุหรี่ของมารดามีผลเสียต่อทารกทั้งในระยะของการตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งผลเสียนี้ยังรวมทั้งการที่มารดาได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน ในปัจจุบัน มีการใช้นิโคตินเพื่อใช้รักษาการสูบบุหรี่ แต่มีการศึกษาพบว่า การใช้นิโคตินเพื่อการรักษาการสบบุหรี่ก็ยังพบผลเสียในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ โดยผลเสียที่พบได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด การตายคลอด และทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย1 แต่จากการศึกษานี้ยังไม่พบผลเสียของการใช้นิโคตินในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการศึกษารวบรวมกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ให้เพียงพอที่จะสรุปผลต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Kreyberg I, Nordhagen LS, Bains KES, et al. An update on prevalence and risk of snus and nicotine replacement therapy during pregnancy and breastfeeding. Acta Paediatr 2019.

 

อาการซึมเศร้ากระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             ในปัจจุบัน อาการซึมเศร้าเป็นอาการที่พบบ่อยขึ้นทั้งในวัยรุ่น วัยเรียน วัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งในมารดาที่ตั้งครรภ์และมารรดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาการซึมเศร้านั้นกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไปจะทำให้การเริ่มนมแม่ช้าและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง ในทางกลับกันการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็อาจสะท้อนถึงอาการซึมเศร้าได้เช่นกัน มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์นี้พบว่า การให้ยาต้านการซึมเศร้าช่วยให้มารดามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาที่ไม่ได้กินยาต้านอาการซึมเศร้า1 นอกจากนี้ยาต้านอาการซึมเศร้าหากเลือกตัวยาที่เหมาะสมมีการผ่านน้ำนมน้อยในปริมาณที่ไม่มีผลต่อทารก ก็จะส่งผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังนั้น บุคลากรผู้ให้คำปรึกษาควรมีความรู้ในเรื่องนี้และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อมูลของการใช้ยาให้มีความทันสมัย เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Galbally M, Watson SJ, Ball H, Lewis AJ. Breastfeeding, Antidepressants, and Depression in the Mercy Pregnancy and Emotional Well-Being Study. J Hum Lact 2019;35:127-36.

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)