การใช้สื่อความรู้ที่บันเทิงผ่านโทรศัพท์มือถือช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน การเสพสื่อต่าง ๆ ในคนยุคใหม่เริ่มเคลื่อนย้ายจากสื่อทีวีมาเป็นสื่อที่ผ่านอินเตอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเห็นจากการที่คนในยุคใหม่ดูทีวีจากเครื่องรับทีวีน้อยลง แต่จะใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น แม้จะดูเนื้อหาจากรายการทีวียังดูผ่านอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสามารถดูย้อนหลังหรือดูซ้ำ ๆ ได้ ดังนั้น การพัฒนาสื่อความรู้ทางสุขภาพผ่านการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือจึงน่าจะมีบทบาทสร้างความเข้าถึงในคนยุคใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแอฟริกาใต้ได้มีการพัฒนาสื่อวิดีโอความรู้ที่บันเทิง (entertainment-education) เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านอินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือพบว่าสามารถเข้าถึงชุมชนและครอบครัวได้มากขึ้น1 ดังนั้น การพัฒนาสื่อความรู้สุขภาพในปัจจุบันและอนาคตควรพัฒนาให้เข้ากับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้รับสาร เพื่อให้เกิดการเข้าถึง การรับรู้ และเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Adam M, Tomlinson M, Le Roux I, et al. The Philani MOVIE study: a cluster-randomized controlled trial of a mobile video entertainment-education intervention to promote exclusive breastfeeding in South Africa. BMC Health Serv Res 2019;19:211.

การลดการเกิดหอบหืดด้วยการให้ลูกได้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคหอบหืดเป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ลูกได้กินนมแม่จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่ดีและยังช่วยให้ควบคุมให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเป็นปกติ มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกได้กินนมแม่นานอย่างน้อย 6 เดือน จะช่วยลดการเกิดหอบหืดหรือในกรณีที่เกิดหอบหืด การเริ่มเกิดอาการหอบหืดเกิดช้าลง โดยพบประโยชน์ของนมแม่ต่อหอบหืดในเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการหอบหืดรุนแรงน้อยกว่าสองครั้ง1 สำหรับกลไกที่ทำไมจึงช่วยลดการเกิดของหอบหืดในเด็กที่มีจำนวนครั้งของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากหอบหืดที่รุนแรงน้อยกว่านั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป เพื่ออธิบายกลไกที่ชัดเจนในการช่วยลดการเกิดอาการหอบหืดของทารกจากกระบวนการการกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Abarca NE, Garro AC, Pearlman DN. Relationship between breastfeeding and asthma prevalence in young children exposed to adverse childhood experiences. J Asthma 2019;56:142-51.

 

ภาวะซึมเศร้าของมารดามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การที่มารดามีภาวะซึมเศร้าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้พบว่า หากมารดามีภาวะซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ก่อนการคลอดจะส่งผลให้มารดามีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า แต่หากพบว่ามารดามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีผลต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาจะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นลง1 ดังนั้น การใส่ใจ ให้การสังเกต และการสอบถามเรื่องภาวะจิตใจของมารดาจากบุคลากรทางการแพทย์จึงมีความจำเป็น เพราะหากมีการสงสัยว่ามารดามีภาวะซึมเศร้า การเริ่มการตัดคัดกรอง และให้การวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้มารดาได้รับคำปรึกษาและได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Abdul Raheem R, Chih HJ, Binns CW. Maternal Depression and Breastfeeding Practices in the Maldives. Asia Pac J Public Health 2019;31:113-20.

สามียังมีบทบาทสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               เมื่อมีงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของสามีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น จึงมีการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบถึงบทบาทของสามีกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งพบว่าการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสามีเป็นผลดีต่อระยะเวลาและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยการอบรมให้ความรู้แก่สามีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบให้คำปรึกษาแบบต่อหน้า (face-to-face) จะให้ผลดีกว่า1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญแก่สามีโดยให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ในประเทศไทยที่เป็นครอบครัวใหญ่ การให้ความรู้แก่ปู่ย่า ตายายหรือคนในครอบครัวยังเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Abbass-Dick J, Brown HK, Jackson KT, Rempel L, Dennis CL. Perinatal breastfeeding interventions including fathers/partners: A systematic review of the literature. Midwifery 2019;75:41-51.

 

ประโยชน์ของการนัดติดตามหลังคลอดในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             ในช่วงหลังคลอดใหม่ มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะในมารดาที่คลอดลูกคนแรก ยังขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจพบปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้มารดาต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะแนะนำให้นัดมารดามาติดตามหลังคลอดเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เพื่อที่จะสอบถาม ให้คำปรึกษาและติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการนัดติดตามมารดาหลังคลอดในช่วง 2-3 สัปดาห์กับช่วง 6-8 สัปดาห์ โดยมีการติดตามผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนหลังคลอดพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างสองกลุ่มไม่แตกต่างกันในระหว่างการนัดติดตามเร็วและช้า1 อย่างไรก็ตาม การที่จะสรุปผลประโยชน์ของการนัดติดตามหลังคลอดเร็วนั้น ช่วงระยะเวลาที่นัดและช่วงเวลาที่วัดผลจะส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ได้ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตเพื่อให้ได้ความชัดเจนหรือสรุปผลได้ด้วยความมั่นใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Abbott JL, Carty JR, Hemman E, Batig AL. Effect of Follow-Up Intervals on Breastfeeding Rates 5-6 Months Postpartum: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2019;14:22-32.

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)