รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ไมเกรน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรีซึ่งรวมถึงในมารดาที่ตั้งครรภ์หรือให้นมลูกด้วย โดยในสตรีบางคนอาจสงสัยโรคไมเกรนจากอาการที่เป็น และเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นไมเกรน อาจจะทำการรักษาเบื้องต้นจากการซื้อยามารับประทานเองโดยปราศจากการให้การวินิจฉัยจากแพทย์ มีการสำรวจความรู้สึกและความเชื่อของมารดาที่เป็นไมเกรนเมื่อต้องได้รับการรักษาด้วยยาพบว่า มารดามีความเชื่อและความวิตกกังวลหรือกลัวที่จะต้องได้รับยาจากการรักษาไมเกรนในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมลูก1 ทำให้มารดาบางคนอาจต้องทุกข์ทรมานจากอาการไมเกรนโดยการเลือกที่จะทนและไม่ใช้ยาในการรักษาในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมลูก ซึ่งหากการที่มารดาต้องทนแล้วทำให้เกิดอาการเครียด ความเครียดนี้อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าการเลือกที่จะใช้ยา ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจในการรับรู้และความเชื่อของมารดาที่เป็นไมเกรน การให้คำปรึกษา ให้เวลา อธิบายให้มารดาเข้าใจถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ก็จะทำให้การดูแลอาการไมเกรนในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมลูกมีความเหมาะสมและมีผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยที่สุด
เอกสารอ้างอิง
Amundsen S, Ovrebo TG, Amble NMS, Poole AC, Nordeng H. Risk perception, beliefs about medicines and medical adherence among pregnant and breastfeeding women with migraine: findings from a cross-sectional study in Norway. BMJ Open 2019;9:e026690.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์มีผลต่อการรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ของคนในสังคมเป็นอย่างมาก และโทรศัพท์มือถืออาจเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเข้าสังคมในชีวิตจริงได้ผสานกับเครือข่ายสังคมเหมือนจริงในโลกเสมือนที่มีอยู่ในหลากหลายเครือข่ายที่นิยมได้แก่ ไลน์ (Line) เฟสบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ลิงก์อิน (LinkedIn) สไกป์ (Skype) เป็นต้น ซึ่งหากมองเครื่องมือนี้มาใช้ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เครื่องมือนี้สามารถเชื่อมโยงผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ทั้งแบบที่สามารถจะมองเห็นหน้าหรือท่าทางผ่านการถ่ายทอดระบบวิดีโอ หรือระบบสื่อสารผ่านเสียง หรือระบบสื่อสารผ่านตัวอักษร 1 หากบุคลากรทางการแพทย์สามารถนำมาสร้างเป็นเครือข่ายสังคมในโลกเสมือนจริงเพื่อให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อรองรับมารดายุคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ความใกล้ชิด การเข้าถึงข้อมูลทั้งในเรื่องความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัญหาและอุปสรรคเบื้องต้นที่หากมารดามีความเข้าใจแล้ว สามารถจะนำไปปฏิบัติหรือดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการสร้างโอกาสให้ลูกได้มีสุขภาพที่ดีจากการได้กินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. “I did a lot of Googling”: A qualitative study of exclusive breastfeeding support through social media. Women Birth 2019;32:147-56.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความมั่นใจในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มีผลดีต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนม โดยทั่วไปมารดามักนอนหลับไม่เพียงพอในระยะหลังคลอดซึ่งอาจมีผลทำให้น้ำนมมารดาลดลงได้ เนื่องจากหลังคลอดใหม่ ๆ ทารกจะตื่นกินนมแม่บ่อย หากมารดาพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และลดความมั่นใจในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ 1 โดยมีการศึกษาที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์นี้ที่พบว่า มารดาที่นอนหลับไม่เพียงพอสัมพันธ์กับการลดความมั่นใจในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น ข้อแนะนำที่ควรให้แก่มารดา คือ ขณะที่ลูกนอน แม่ควรนอนด้วย ซึ่งหากมารดาปฏิบัติได้ดังนี้ คุณภาพของการนอนที่มารดารู้สึกว่าเพียงพอก็จะดีขึ้นและส่งผลดีต่อความมั่นใจในการกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Aksu A, Vefikulucay Yilmaz D. The relationship of postpartum sleep quality and breastfeeding self-efficacy of Turkish mothers. Scand J Caring Sci 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด โดยเฉพาะภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นผลดีโดยส่งผลทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานขึ้น มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกพบว่า การคลอดปกติจะช่วยส่งเสริมการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก ขณะที่การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก นอกจากนี้ ยังพบว่า การที่มารดามีความรู้เกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ระดับการศึกษาของมารดาที่สูง และการที่มารดามีที่อยู่ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกตั้งแต่ในระยะแรกด้วย 1 ดังนั้น หากบุคลากรเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งเสริมและเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกได้ดี จะทำให้สามารถคัดกรองมารดาที่มีความเสี่ยงต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าได้ ทำให้สามารถวางแผน ให้คำปรึกษาและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คู่มารดาและทารกมีผลลัพท์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Ahmed AE, Salih OA. Determinants of the early initiation of breastfeeding in the Kingdom of Saudi Arabia. Int Breastfeed J 2019;14:13.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การใช้เครื่องจำลองถึอเป็นวิธีการฝึกทักษะอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ เช่น การใช้เครื่องจำลองในการฝึกบินที่จะช่วยสร้างทักษะในการบินให้แก่นักบิน ซึ่งการนำมาใช้ในการฝึกทักษะที่ช่วยในเรื่องการสร้างสุขภาพก็น่าจะเป็นประโยชน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาในประเทศอินโดนีเซียถึงการใช้เครื่องจำลองในการให้นมแม่เพื่อช่วยฝึกทักษะการให้นมแม่แก่มารดาพบว่า มารดาที่ได้ฝึกเครื่องจำลองการให้นมแม่มีทักษะที่ดีกว่ามารดากลุ่มควบคุม ซึ่งก็คือการใช้เครื่องจำลองการให้นมแม่สามารถช่วยฝึกทักษะการให้นมแม่แก่มารดาได้ 1 ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเครื่องมือจำลองเพื่อฝึกทักษะทางด้านการสร้างสุขภาด น่าจะเป็นประโยชน์ในยุคที่บุคลากรทางการแพทย์มีความขาดแคลนโดยเฉพาะ “พยาบาลวิชาชีพ”
เอกสารอ้างอิง
Agrina, Sabrian F, Zulfitri R, Arneliwati, Herlina, Pristiana Dewi A. The effectiveness of simulation health education to mother breastfeeding skill between two groups in rural area of Riau, Indonesia. Enferm Clin 2019;29 Suppl 1:9-12.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)