การตรวจเต้านมจำเป็นสำหรับการวางแผนให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในการวางแผนให้นมแม่นั้น ควรเริ่มตั้งแต่ระยะฝากครรภ์ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจเต้านมมีความสำคัญ ซึ่งในลำดับแรกคือตรวจการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเต้านมว่าปกติดีหรือไม่ จากนั้นตรวจดูความผิดปกติ ได้แก่ บาดแผล แผลเป็น ก้อน หรือรอยโรคอื่น ๆ รวมถึงการผ่าตัดเสริมเต้านมซึ่งในปัจจุบันนิยมทำกันมากขึ้น การพบบาดแผลหรือแผลเป็นที่ทำลายการเปิดของท่อน้ำนม อาจเป็นอุปสรรคในการให้นมแม่1 ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและไม่ควรละเลยในการตรวจเต้านมของมารดาเพื่อการวางแผนการเตรียมตัวสำหรับการให้นมแม่ที่เหมาะสม รวมทั้งการให้กำลังใจ ลดความรู้สึกผิดในกรณีที่มารดามีความจำเป็นที่ไม่สามารถจะให้นมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Arabi Z, Md Monoto EM, Bojeng A. Impact of childhood burn injuries on breastfeeding: a case report. Int Breastfeed J 2019;14:17.

การใช้ข้อมูลเฉลี่ยของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจมองข้ามปัญหาที่มีในรายพื้นที่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการดำเนินงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องมีข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมของประเทศและในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการจะวางแผนดำเนินงานปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ข้อมูลของประเทศจะเป็นค่าเฉลี่ยจากพื้นที่ที่มีความหลากหลายในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ แต่ละตำบล และแต่ละหมู่บ้าน ดังนั้น การวางแผนแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคย่อมมีลำดับความสำคัญหรือความเร่งด่วนที่แตกต่างกัน การใช้ข้อมูลจากค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศมาใช้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับข้อมูลหรือปัญหาเฉพาะในแต่ละพื้นที่ อาจมีผลทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและผลลัพท์อาจไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้1 การรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องในแต่ละพื้นที่แล้วนำมาเป็นฐานในการดำเนินการวางแผนจึงควรมีก่อนการวางแผนปฏิบัติการ นั่นคือ ต้องมีการสร้างทัศนคติและแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ให้แก่บุคลากรเพื่อสร้างให้เกิดการปฏิบัติในการที่จะนำสิ่งทีปฏิบัติต่าง ๆ อยู่ในงานประจำมาจัดให้เป็นระบบของข้อมูลข่าวสารที่สามารถนำมาวิเคราะห์และแปลผลได้ การสร้างทัศนคติที่บริหารจัดการข้อมูลและความรู้ ยังเป็นรากฐานที่นำไปสู่การวิจัยหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและหน่วยงานแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0

เอกสารอ้างอิง

  1. Berkowitz SS. Another Look at WIC’s Breastfeeding Data: State Totals Reveal More Than Regional Averages. J Hum Lact 2019;35:37-41.

การที่ลูกจะได้กินนมแม่ สถานที่ที่คลอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แน่นอนว่าสถานที่ที่คลอดมีความสำคัญต่อการที่ลูกจะได้กินนมแม่ การคลอดในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานพยาบาล ส่วนน้อยที่มีการคลอดที่บ้าน ซึ่งพบว่าหากมารดาคลอดที่สถานพยาบาลโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่าคลอดที่บ้านราวร้อยละ 40 เมื่อเทียบมารดาที่คลอดในสถานพยาบาลภาครัฐกับสถานพยาบาลภาคเอกชน โอกาสที่ลูกจะได้กินนมแม่ในสถานพยาบาลภาคเอกชนต่ำกว่าสถานพยาบาลภาครัฐราวร้อยละ 101 และการคลอดในสถานพยาบาลที่มีนโยบายและการปฏิบัติที่สนับสนุนโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกย่อมมีโอกาสที่สูงกว่าที่ลูกจะได้กินนมแม่ ดังนั้น มารดาและครอบครัวจึงควรใส่ใจและวางแผนในการคลอดในสถานที่ที่เหมาะสมหากมีความตั้งใจที่จะให้ลูกมีโอกาสสูงที่จะกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bergamaschi N, Oakley L, Benova L. Is childbirth location associated with higher rates of favourable early breastfeeding practices in Sub-Saharan Africa? J Glob Health 2019;9:010417.

การส่งเสริมนโยบายและการจัดการการดูแลมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องอาศัยการประเมินผลแบบรวดเร็วทันที

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันอยู่ในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีความรวดเร็วซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลในการวางแผนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้ดี ในการวางนโยบายและการติดตามการปฏิบัติงานการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ซึ่งหากกระเมินผลสามารถแสดงผลได้แบบรวดเร็วทันที (real-time information) ก็จะทำให้การวางนโยบายและการกำหนดแผนการปฏิบัติงานทำได้อย่างเหมาะสมที่สอดคล้องกัยสถานการณ์จริง ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ทันเหตุการณ์ ซึ่งผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาย่อมได้ผลตามกัน อย่างไรก็ตาม การวางระบบเพื่อให้มีการเก็บและส่งต่อข้อมูลที่ดี รวดเร็ว และถูกต้องนั้น ต้องมีการวางเครือข่าย กำหนดบทบาทหน้าที่ มีการควบคุม ประเมินและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล ซึ่งความถูกต้องของข้อมูลนั้นมีความสำคัญเช่นเดียวกับความรวดเร็วในการแสดงผลของข้อมูล ดังนั้น หากสามารถวางแผนเก็บข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมของประเทศให้มีความถูกต้องและรวดเร็วแล้ว จะส่งผลทำให้การวางนโยบายและแผนปฏิบัติการของประเทศทำได้ดีและฃ่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นได้1 การลงทุนเพื่อวางระบบเครือข่ายของข้อมูลนั้นจึงน่าลงทุน ซึ่งหากจัดการระบบได้ดี การลงทุนนั้นจะช่วยให้เกิดความคุ้มค่าเนื่องจากการช่วยให้ทารกได้กินนมแม่เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดีในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Begin F, Lapping K, Clark D, et al. Real-time evaluation can inform global and regional efforts to improve breastfeeding policies and programmes. Matern Child Nutr 2019;15 Suppl 2:e12774.

 

 

 

มารดาที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันอายุของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันมีแนวโน้มที่จะมีอายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาเรื่องการมีบุตรยากก็พบเพิ่มขึ้น แนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นตามมา เป็นที่ทราบกันดีว่า การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แม้พยายามจะใช้กลไกที่เลียนแบบธรรมชาติ แต่การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการเทคโนโลยีที่ช่วยเหล่านี้พบมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดเพิ่มขึ้น เริ่มจากอัตราการแท้ง อัตราการคลอดก่อนกำหนด อัตราการเกิดครรภ์แฝด อัตราการผ่าตัดคลอด และการตกเลือดหลังคลอดที่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สืบเนื่องต่อจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้น ภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดจึงส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทำให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า หรือทารกต้องย้ายไปอยู่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต ทำให้ต้องมีการแยกทารกจากมารดา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งส่งผลทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดากลุ่มนี้ต่ำ1 การคัดกรองมารดาในกลุ่มนี้โดยจัดเป็นกลุ่มเสื่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร จัดการให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้โดยทารกมีโอกาสได้กินนมแม่สูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Barrera CM, Kawwass JF, Boulet SL, Nelson JM, Perrine CG. Fertility treatment use and breastfeeding outcomes. Am J Obstet Gynecol 2019;220:261 e1- e7.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)