การจูงใจให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีกลวิธีและกระบวนการที่หลากหลายในการดำเนินงาน มีการศึกษาถึงการจูงใจให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดโดยการพูดคุย ให้ความรู้และให้คำปรึกษา (brief motivational intervention) ร่วมกับการโทรศัพท์ติดตามมารดาที่ 1 เดือนและ 3 เดือนพบว่า การจูงใจให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามวิธีนี้สามารถช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดีขึ้นได้1 ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีความจำเพาะในประชากรแต่ละกลุ่ม ซึ่งในการพัฒนาควรมีการคำนึงถึงสิ่งนี้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Franco-Antonio C, Calderon-Garcia JF, Vilar-Lopez R, Portillo-Santamaria M, Navas-Perez JF, Cordovilla-Guardia S. A randomized controlled trial to evaluate the effectiveness of a brief motivational intervention to improve exclusive breastfeeding rates: Study protocol. J Adv Nurs 2019;75:888-97.

 

 

 

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีความเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนเวลาอันควรหรือมีโอกาสที่ทารกจะไม่ได้กินนมแม่สูง การดูแลและติดตามให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย แต่ในปัจจุบันยังคงมีการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา ติดตาม ดูแลและช่วยให้ทารกได้มีโอกาสกินนมแม่มากขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่า หากมีความขาดแคลนบุคลากรผู้ที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผลของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะขึ้นอยู่กับความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติของบุคลากรที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา1 ซึ่งผลอาจจะช่วยในกรณีที่มีการให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ช่วยในการสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่หากการให้คำปรึกษานั้นขาดความรู้ที่ทันสมัย ดังนั้น การสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม การมีสถานที่ที่ฝึกอบรมมาตรฐานการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เปิดอบรมพยาบาลเฉพาะทางด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช สถาบันสุพภาพเด็กมหาราชินี และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ จำนวนที่อบรมบุคลากรได้รายปียังไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้รับบริการที่ต้องการการให้คำปรึกษา การสนับสนุนเชิงนโยบายต่อการเปิดสถานที่ฝึกอบรมของภาครัฐและองค์กรวิชาชีพของแพทย์และพยาบาลน่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ericson J, Palmer L. Mothers of preterm infants’ experiences of breastfeeding support in the first 12 months after birth: A qualitative study. Birth 2019;46:129-36.

 

ปัจจัยที่ทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมารดาที่อพยพ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเมียนมา การที่ประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนย้ายถิ่นที่อยู่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตประจำวัน อาหารการกิน การดูแลสุขภาพ รวมทั้งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาในกลุ่มมารดาจีนที่อพยพไปอยู่แคนาดาเพื่อศึกษาความชุกของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและปัจจัยที่มีอิทธิพลที่จะทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวพบว่า ความชุกของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในมารดากลุ่มนี้ต่ำ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวคือ การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่และการได้รับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหลังคลอดขณะพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล1 การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่นั้นน่าจะทำให้มารดาต้องมีการปรับตัวและต้องดิ้นรนต่อสภาวะเศรษฐกิจที่แข่งขันสูง มารดาอาจต้องทำงาน ซึ่งการหากมารดาต้องกลับไปทำงานเร็วจะมีผลทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งการปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากปัจจัยนี้อาจทำได้ลำบาก แต่สำหรับการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก หากมารดาคลอดในโรงพยาบาลที่มีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก โอกาสที่จะได้รับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะน้อย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่มารดาจะให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Dennis CL, Brown HK, Chung-Lee L, et al. Prevalence and predictors of exclusive breastfeeding among immigrant and Canadian-born Chinese women. Matern Child Nutr 2019;15:e12687.

 

 

มุมมองของพ่อและแม่ แตกต่างกันไหมในเรื่องนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แม้ว่าการให้ลูกกินนมแม่ มารดาจะเป็นผู้เริ่ม แต่การตัดสินใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ บิดายังคงมีบทบาทที่สำคัญ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์จะทำการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงควรมีความเข้าใจถึงมุมมองของพ่อและแม่ว่า มีความคิดเกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่อย่างไร และมีความแตกต่างกันหรือไม่ในระหว่างมุมมองของพ่อและแม่เกี่ยวกับการตัดสินใจให้ลูกกินนมแม่ มีการศึกษาถึงเรื่องนี้พบว่า หากพิจารณาในเรื่องประโยชน์ของนมแม่ต่อสุขภาพทารกและประโยชน์ของนมแม่ในด้านความประหยัด ความคุ้มค่าและประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ มารดาจะมีมุมมองทางด้านนี้ดีกว่าบิดา และมารดายังทราบเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลหรือสถานที่ที่สนับสนุนเรื่องการให้ลูกได้กินนมแม่ที่มีอยู่ในชุมชนและติดต่อส่วนบุคคลดีกว่าบิดา ขณะที่บิดามีมุมมองเกี่ยวกับบทบาทในการสนับสนุนนมแม่ว่า “ตนเองมีความสำคัญ แต่ขาดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และมักจะไม่ได้เข้าไปร่วมพูดคุยหรือรับคำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”1 ดังนั้น หากเราช่วยเพิ่มความรู้ให้กับบิดาและเพิ่มการมีส่วนร่วมในการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ บิดาจะได้แสดงบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ

เอกสารอ้างอิง

  1. Dayton CJ, Johnson A, Hicks LM, et al. Sex Differences in the Social Ecology of Breastfeeding: A Mixed Methods Analysis of the Breastfeeding Views of Expectant Mothers and Fathers in the Us Exposed to Adversity. J Biosoc Sci 2019;51:374-93.

 

 

 

การป้องกันทารกน้ำตาลต่ำโดยการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและให้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะน้ำตาลต่ำในทารกแรกเกิดมักพบในมารดาที่เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในทารกหลังคลอดและจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ในกระบวนการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยให้ทารกอบอุ่นและรู้สึกปลอดภัย การใช้พลังงานในร่างกายทารกไม่เพิ่มขึ้น จึงช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ มีการศึกษาการป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำในทารกแรกเกิดที่มีมารดาเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ที่ควบคุมระดับน้ำตาลโดยการควบคุมอาหารพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและการเริ่มให้นมแม่เร็วและบ่อยตั้งแต่ระยะแรกเป็นวิธีที่ได้ผลดีและมีความปลอดภัย1 ซึ่งเมื่อดูแนวทางปฏิบัติในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บุคลากรทางการแพทย์จะส่งเสริมให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและเริ่มกินนมแม่เร็วตั้งแต่ระยะแรกอยู่แล้ว หากทราบว่าทารกมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ การกระตุ้นให้ทารกกินนมบ่อยขึ้น ก็สามารถที่จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้แล้ว จึงเป็นวิธีพื้นฐานที่ไม่ต้องพึ่งพายาหรือสารน้ำอื่น ๆ ในการรักษา ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

เอกสารอ้างอิง

  1. Dalsgaard BT, Rodrigo-Domingo M, Kronborg H, Haslund H. Breastfeeding and skin-to-skin contact as non-pharmacological prevention of neonatal hypoglycemia in infants born to women with gestational diabetes; a Danish quasi-experimental study. Sex Reprod Healthc 2019;19:1-8.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)