
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โดยทั่วไป ความเชื่อของมารดาเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานกับสารอาหารในนมแม่ก็คือ “หากมารดารับประทานอะไร ลูกที่กินนมแม่ก็มักจะได้รับสารอาหารเช่นเดียวกันกับมารดาที่รับประทานอาหารนั้น ซึ่งในความเชื่อนี้ส่วนใหญ่ถูกต้อง” เนื่องจากอาหารหรือสิ่งที่มารดารับประทานเข้าไปจะได้รับการย่อยและดูดซึมเข้ากระแสเลือด ซึ่งจากกระแสเลือดก็จะมีการไหลผ่านไปที่ต่อมน้ำนม ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นก็จะผ่านไปยังน้ำนมและเป็นส่วนหนึ่งของส่วนประกอบของน้ำนม แต่หากดูที่สารอาหารส่วนใหญ่และปริมาณพลังงานที่ทารกจะได้รับจากนมแม่แล้วพบว่า ส่วนประกอบของนมแม่ส่วนใหญ่และปริมาณพลังงานที่ทารกจะได้รับจากนมแม่นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่มารดารับประทาน รวมทั้งหากมารดากินอาหารไม่ครบหมู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับมีภาวะทุพโภชนาการที่เรื้อรังแล้ว การผลิตนมแม่ก็ยังทำได้ดี โดยที่ส่วนประกอบของนมแม่ที่เป็นหลักรวมทั้งพลังงานที่ได้จากนมแม่ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน สำหรับสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยและกรดไขมันนั้น บางตัวจะขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของสารอาหารที่มารดารับประทานเข้าไป1 หากมารดาอยู่ในพื้นที่ที่พบว่ามีความชุกของการขาดสารอาหารบางตัวบ่อย การแนะนำให้มารดารับประทานสารอาหารเพิ่มเติมในมารดาและทารกอาจมีความจำเป็น โดยที่ต้องมีการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่จำเพาะในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับบริบทและความชุกของการขาดแคลนสารอาหารที่พบในพื้นที่นั้น ๆ
เอกสารอ้างอิง
- Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ประโยชน์ที่โดดเด่นของนมแม่ก็คือเรื่องของภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกัน ลดอันตรายและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในทารก ซึ่งในช่วงวัยทารก การติดเชื้อของทางเดินอาหารเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ทารกเสียชีวิต มีการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันที่อยู่ในนมแม่ พบว่า ในนมแม่จะมีโปรตีนหลากหลายที่มีฤทธิ์ต่อต้านการติดเชื้อ โดยส่วนหนึ่งหลั่งมาจากเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะพบมีปริมาณเพิ่มขึ้น หากมีการอักเสบหรือติดเชื้อที่เต้านม ดังนั้น นมแม่นอกจากจะช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันของทารกแล้ว ยังจะช่วยป้องกันการอักเสบหรือติดเชื้อของเต้านมด้วย1 เพิ่มเติมจากเรื่องที่นมแม่ป้องกันการติดเชื้อในทารกและเต้านม ยังมีการศึกษาที่พบว่า การให้ลูกกินนมแม่ ยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ โดยมะเร็งเต้านมนับเป็นมะเร็งที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของสตรี ประโยชน์ของนมแม่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาที่มารดาให้ลูกกินนมแม่ด้วย โดยยิ่งให้ลูกกินนมแม่นาน โอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมจะยิ่งลดลง
เอกสารอ้างอิง
- Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ตั้งแต่ในสมัยโบราณกาล การให้ลูกกินนมแม่นับเป็นหนทางทางธรรมชาติที่จะช่วยในการพัฒนาและการคงการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ มีทฤษฎีที่เชื่อว่า การกินนมแม่ของทารกตั้งแต่ในระยะแรกเกิดจนกระทั่งถึงอายุสองปีจะมีความสัมพันธ์กับการวางรากฐานของพัฒนาการและสุขภาพของทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยังมีคำถามที่หลากหลายเกี่ยวกับส่วนประกอบของนมแม่ที่มีความแตกต่างกันในมารดาที่อยู่ในประเทศที่แตกต่างกัน สถานที่สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน อาหารการกินที่แตกต่างกัน การมีวิธีการคลอดที่แตกต่างกันและช่วงเวลาที่เก็บนมแม่ตรวจที่แตกต่างกัน รวมทั้งนมแม่ที่พบแตกต่างกันในทารกที่คลอดที่อายุครรภ์แตกต่างกันและที่มีเพศแตกต่างกันด้วย1 สิ่งนี้แสดงชัดถึงสิ่งหนึ่งคือ ความสา มารถพิเศษของการผลิตนมแม่ที่มีความจำเพาะที่จะมีความพอเหมาะสำหรับคู่มารดาและทารกในแต่ละคู่และในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งแม้นว่ายังขาดการอธิบายในรายละเอียดของกลไกการทำงานในการผลิตนมแม่ที่มีความจำเพาะนี้ แต่ที่แน่นอนคือ “นมแม่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณรักจากมารดาที่มีความจำเพาะสำหรับบุตรที่ตนเองได้คลอดออกมา เพื่อสร้างโอกาสที่สูงที่สุดที่จะอยู่รอด มีสุขภาพและพัฒนาการที่ดีนั่นเอง”
เอกสารอ้างอิง
- Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีคำถามและมีความน่าสนใจว่า เกลือแร่และน้ำตาลในกระแสเลือดของมารดาหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นอย่างไร มีค่าเหมือนกับสตรีปกติทั่วไปหรือไม่ คำตอบนี้ได้จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า มารดาหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีค่าของเกลือแร่ โซเดียมสูงเพิ่มขึ้นจนสูงสุดที่สองวันหลังคลอด (142.3 +/- 2.8 mEq/L) และค่อย ๆ ลดลงกลับสู่ระดับปกติที่หกวันหลังคลอด ขณะที่ระดับน้ำตาลจะลดลงจนลดสูงสุดที่สองวันหลังคลอด (62.4 +/- 12.2 mg/dL) และค่อย ๆ เพิ่มจนเข้าสู่ค่าปกติที่หกวันหลังคลอด1 ซึ่งค่าเหล่านี้จะสอดคล้องกับน้ำหนักที่ลดลงเปลี่ยนแปลงของมารดาหลังคลอด คำอธิบายอาจจะเกิดจากกระบวนการการปรับตัวเพื่อเริ่มผลิตน้ำนม ที่ต้องการน้ำ ทำให้ระดับโซเดียมในกระแสเลือดสูงขึ้น และต้องการน้ำตาลเพื่อเป็นสารอาหารหลักในน้ำนม ดังนั้น การพิจารณาความผิดปกติของเกลือแร่และน้ำตาลในกระแสเลือดอาจต้องระบุช่วงเวลาและลักษณะการให้นมของมารดาประกอบการตัดสินใจด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Futatani T, Ina S, Shimao A, et al. Exclusive breastfeeding and postnatal changes in blood sodium, ketone, and glucose levels. Pediatr Int 2019.

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หลังคลอด หากมารดาให้นมลูกอย่างเดียวจะมีฮอร์โมนโปรแลคตินสูง ซึ่งจะยับยั้งการตกไข่ ทำให้ระดับของฮอร์โมนเอสโทรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ ซึ่งมีผลทำให้ความต้องการทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้งขาดน้ำหล่อลื่น อาจมีอาการเจ็บหรือแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งจากกลไกนี้ ถ้ามารดาให้ลูกกินนมอย่างเดียวสม่ำเสมอและต่อเนื่องร่วมกับมารดาไม่มีประจำเดือนมา จะถือว่าการให้นมแม่หลังคลอดเป็นวิธีการคุมกำเนิดวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดาหยุดการให้นม ประจำเดือนเริ่มมาเป็นปกติ การทำงานของฮอร์โมนก็จะกลับมาทำงานเป็นปกติ ความรู้สึกทางเพศก็จะกลับมาเป็นปกติด้วย มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ของมารดาที่ให้นมบุตรในช่วงหกเดือนแรกพบว่า มารดามีเพศสัมพันธ์ลดลง โดยที่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับเรื่องทางเพศของคู่สามีภรรยา การสื่อสาร คุณภาพชีวิต การได้รับคำปรึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์ และรายได้1 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรทำการสอบถามในเรื่องเหล่านี้ในระยะหลังคลอดด้วย เพราะในคนไทย การสื่อสารในเรื่องเหล่านี้มีจำกัด หากเราละเลยก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาหรือความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากการคลอดและการให้นมบุตรได้
เอกสารอ้างอิง
- Fuentealba-Torres M, Cartagena-Ramos D, Lara LAS, et al. Determinants of Female Sexual Function in Breastfeeding Women. J Sex Marital Ther 2019:1-12.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)